ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้น 97 เซนต์เมื่อคืนนี้ (1 ก.ค.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานตึงตัวและสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.พุ่งขึ้น 97 เซนต์ ปิดที่ 140.97 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในระหว่างวันที่ 143.33 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนก.ค.ดีดขึ้น 3.35 เซนต์ ปิดที่ 3.5134 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนก.ค.ปรับตัวขึ้น 1.43 เซนต์ ปิดที่ 3.5134 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนส.ค.พุ่งขึ้น 84 เซนต์ ปิดที่ 140.67 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้นหลังจากนายโนบูโอะ ทานากะ ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) ระบุว่า "ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตราคาน้ำมันรุนแรงเป็นครั้งที่ 3 หลังจากครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2516 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศอาหรับประกาศคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมัน และปี 2522 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการปฏิวัติในอิหร่าน"
นายทานากะยังกล่าวด้วยว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคและผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปคพุ่งขึ้นจนชนเพดานสูงสุดแล้วและยังไม่มีแนวโน้มที่จะขยายเพดานให้กว้างขึ้น ซึ่งการแสดงความคิดเห็นของนายทานากะสะท้อนให้เห็นว่าปริมาณอุปทานน้ำมันทั่วโลกยังคงตึงตัว ขณะที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอิหร่านและอิสราเอล หลังจากสำนักข่าวเอบีซี นิวส์ รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ (เพนทากอน) ว่า การซ้อมรบครั้งใหญ่ของอิสราเอลเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า อิสราเอลมีแสนยานุภาพสูงพอที่จะโจมตีฐานที่ตั้งโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็จะทำให้เกิดภาวะติดขัดด้านการลำเลียงน้ำมันในตะวันออกกลาง
จิม ริทเทอร์บุช หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัทริทเทอร์บุช แอนด์ แอสโซซิเอส์ ในรัฐอิลลินอยส์กล่าวว่า "อิหร่านเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 4 ของโลกและใหญ่เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มโอเปค เรือบรรทุกน้ำมัน 40% ทั่วโลกต้องแล่นผ่านช่องแคบฮอร์มุซซึ่งตั้งอยู่ปากอ่าวเปอร์เซีย หากอิสราเอลโจมตีอิหร่าน ก็จะส่งผลให้การลำเลียงน้ำมันในช่องแคบแห่งนี้ชะงักงันด้วย"
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน (อีไอเอ) ของสหรัฐระบุว่า ความต้องการน้ำมันสหรัฐในเดือนเม.ย.อยู่ในระดับต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมราว 863,000 บาร์เรล/วัน และอยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่แล้วราว 811,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันในเดือนเม.ย.ปีนี้อยู่ในระดับต่ำสุดของเดือนเม.ย.ในรอบ 6 ปี
นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 27 มิ.ย. ซึ่งกระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันพุธ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าสต็อกน้ำมันดิบลดลง 200,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นอาจเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินอาจเพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรล
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--