ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงต่อเนื่องเป็นวันที่สองติดต่อกันเมื่อคืนนี้ (15 ก.ค.) ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบลดลงมากกว่า 10 ดอลลาร์ในระยะเวลาเพียงแค่สองวันท่ามกลางการซื้อขายที่เป็นไปอย่างคึกคัก
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.ร่วงลง 4.14 จุด ปิดที่ 134.60 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากที่ดิ่งลงไปแตะที่ 132 ดอลลาร์ในการซื้อขายระหว่างวัน โดยเมื่อวันอังคารสัญญาน้ำมันดิบร่วงลงถึง 6.44 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนส.ค.ลดลง 7.8 เซนต์ ปิดที่ 3.841 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนส.ค.ร่วงลง 10.54 เซนต์ ปิดที่ 3.2794 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนส.ค.ร่วงลง 2.56 ดอลลาร์ ปิดที่ 136.19 ดอลลาร์/บาร์เรล
การร่วงลงถึง 10.58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงสองวันถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งสำหรับราคาน้ำมันดิบ ทั้งที่ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเพิ่งมีการซื้อขายกันอยู่ที่ระดับสูงกว่า 147 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ร่วงลงในสัปดาห์นี้ยังถือว่าอยู่เหนือจากราคาเมื่อปีก่อนถึงเกือบ 80% และเพิ่มขึ้นจากเมื่อช่วงต้นปีประมาณ 40%
นักวิเคราะห์ไม่มั่นใจว่าการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบจะเป็นการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศการซื้อขายในระยะยาวหรือเป็นเพียงแค่การปรับฐานช่วงสั้นๆ แต่การร่วงลงดังกล่าวก็ทำให้บรรดาผู้คร่ำหวอดในตลาดเริ่มสงสัยว่ามีปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมันให้พุ่งสูงขึ้นได้มากแค่ไหนในเวลานี้
"มันเป็นการส่งสัญญาณว่าตลาดที่เดินหน้าคึกคักอาจกำลังจะอ่อนแรง" ไมเคิล ลินช์ ประธานบ.Strategic Energy & Economic Research Inc. กล่าว
นอกจากนี้ ความผันผวนของราคาก็เป็นสิ่งที่ตลาดให้ความสนใจเช่นกัน โดยจิม ริตเตอร์บุส์ช ประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน Ritterbusch and Associates กล่าวว่า "ผมคิดว่าใครๆก็คงจะแปลกใจกับการขึ้นลงของราคาที่แตกต่างกันมากเช่นนี้ ความผันผวนของราคาขนาดนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดเดาได้" เขากล่าวด้วยว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสามารถบ่งบอกได้ว่าตลาดใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว
ทั้งนี้ อุปทานน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำมันร่วงลงทันทีเมื่อคืนนี้
กระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐเพิ่มขึ้น 3 ล้านบาร์เรล หรือ 1% ในสัปดาห์ก่อน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะร่วงลง ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินก็เพิ่มขึ้นเหนือความคาดหมายเช่นกัน
ขณะเดียวกัน มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นว่าราคาพลังงานที่สูงขึ้นกำลังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อาจส่งผลให้ความต้องการหดตัวลงมาก
เมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ประจำเดือนมิ.ย.ว่าพุ่งขึ้นที่ระดับสูงสุดเป็นอันดับสองในรอบ 26 ปี ซึ่งราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นคิดเป็น 2 ใน 3 ของ CPI ที่ทะยานขึ้นดังกล่าว
"ในแต่ละวันที่ผ่านมา เราได้อ่านข่าวว่าบริษัทรถจะลดการผลิต สายการบินจะลดเที่ยวบิน และผู้บริโภคขับขี่กันน้อยลง" เอ็ดเวิร์ด เมียร์ นักวิเคราะห์จาก MF Global กล่าว "จริงอยู่ เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยใหม่ และตลาดพลังงานก็ไม่ได้สนใจประเด็นพวกนี้ในขณะที่ดันราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่เราเริ่มสงสัยว่าตลาดจะเมินปัจจัยเหล่านี้ไปได้อีกนานแค่ไหนในเมื่อความต้องการลดลงทุกขณะ"
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ยับยั้งเทรดเดอร์ไม่ให้ส่งคำสั่งซื้อเช่นกัน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปนัยดา ปัทมโกวิท โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--