ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเล็กน้อยกลับมายืนอยู่เหนือระดับ 125 ดอลลาร์อีกครั้งเมื่อคืนนี้ (1 ส.ค.) เนื่องจากตลาดพลังงานวิตกกรณีความขัดแย้งกับอิหร่าน อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันเดินหน้าขึ้นอย่างมีขอบเขต เนื่องจากยังมีความเชื่ออยู่บ้างว่าราคาเชื้อเพลิงยังคงสูงเกินไปสำหรับชาวอเมริกันซึ่งได้ลดการขับขี่ลงเพื่อประหยัดเงินในช่วงที่การจับจ่ายฝืดเคือง
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ย.กระโดดขึ้นมากกว่า 4 ดอลลาร์ สู่ระดับ 128.60 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 วันทำการซื้อขายที่ผ่านมา ก่อนที่จะอ่อนตัวลงในเวลาต่อมา และปิดที่ 125.10 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.02 ดอลลาร์จากระดับราคาปิดในวันพฤหัสบดีที่ 124.08 ดอลลาร์ ลดลง 2.69 ดอลลาร์จากวันพุธ
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออลย์ส่งมอบเดือนส.ค.ลดลง 2.25 เซนต์ ปิดที่ 3.437 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 1.34 เซนต์ หรือ 2.78% ปิดที่ 3.0843 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย.ที่ตลาดกรุงลอนดอน ขยับขึ้น 62 เซนต์ ปิดที่ 124.60 ดอลลาร์/บาร์เรล
เทรดเดอร์มีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น หลังจากมีรายงานอ้างคำกล่าวของนาย ชาอุล โมฟาซ รองนายกรัฐมนตรีของอิสราเอลว่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเข้าใกล้ความสำเร็จครั้งสำคัญแล้ว และอิหร่านต้องเตรียมพร้อมสำหรับทุกทางเลือก
โมฟาซ ซึ่งเป็นอดีตรมว.กลาโหมและผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอิสราเอล เป็นตัวเก็งที่จะขึ้นรับตำแหน่งต่อจากนายกรัฐมนตรีเอฮัด โอลเมิร์ต ซึ่งประกาศเมื่อวันพุธว่า เขาจะก้าวลงจากตำแหน่งในเดือนก.ย.นี้ ขณะที่มีการสืบสวนกรณีคอร์รัปชั่น
คำกล่าวของโมฟาซสร้างความหวาดหวั่นให้กับนักลงทุนซึ่งเกรงว่าการโจมตีของอิหร่านอาจทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางตกอยู่ในสถานการณ์วุ่นวายและส่งผลถึงการจัดส่งน้ำมันในช่วงที่อุปทานทั่วโลกตึงตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ การซื้อขายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่ามีความผันผวนมาก โดยราคาสัญญาน้ำมันดิบขยับขึ้นลงอย่างรุนแรง ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าตลาดน้ำมันจะผันผวนมากกว่านี้ เนื่องจากปัจจัยที่แตกต่างกันระหว่างอุปทานที่ตึงตัวในไนจีเรียและอิหร่านอาจหนุนให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น หรือความต้องการที่ลดลงอาจจะยังคงส่งผลให้ราคาน้ำมันร่วงลงต่อไปอีก
ราคาน้ำมันดิบดิ่งลง 22 ดอลลาร์ หรือราว 15% นับตั้งแต่ที่พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 147.27 ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากราคาที่สูงขึ้นทำให้ประชาชนและธุรกิจต่างๆลดการใช้เชื้อเพลิงลง
ความวิตกเรื่องความต้องการพลังงานที่ลดลงในสหรัฐมีปัจจัยเสริมมาจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขจ้างงานเดือนก.ค.ร่วงลง 51,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการลดลงเดือนที่ 7 ติดต่อกันแล้ว แต่ยังดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ ขณะที่อัตราว่างงานพุ่งสูงเกินคาดสู่ระดับ 5.7% โดยข้อมูลที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์มีขึ้นหลังจากที่เมื่อวันพฤหัสบดีกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ขอเข้ารับสวัสดิการในระหว่างว่างงานพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี
ขณะเดียวกัน สถาบันการจัดการอุปทานเผยว่า กิจกรรมการผลิตซบเซาในเดือนก.ค. ส่วนบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่าง เจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป (จีเอ็ม) ก็เผยว่า บริษัทขาดทุน 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาสสอง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ และเป็นตัวเลขขาดทุนมากเป็นอันดับสามในประวัติศาสตร์ของบริษัท
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความกังวลเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของอิหร่านในการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์น่าจะยังคงมีอิทธิพลต่อการซื้อขายในตลาดน้ำมันสัปดาห์หน้า โดยวันเสาร์นี้ถือเป็นกำหนดเส้นตายที่อิหร่านจะต้องแสดงให้เห็นว่าจะยุติกิจการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมอย่างน้อยเป็นการชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงมาตราการคว่ำบาตรครั้งใหม่จากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปนัยดา ปัทมโกวิท โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--