ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงต่ำกว่าระดับ 120 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (5 ส.ค.) โดยในระหว่างวันราคาดิ่งลงต่ำกว่าระดับ 118 ดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลงและราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น จะส่งผลให้ความต้องการพลังงานลดน้อยลงด้วย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ย.ร่วงลง 2.24 ดอลลาร์ ปิดที่ 119.17 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.เป็นต้นมา หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 121.00-118.80 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนส.ค.ลดลง 6.81 เซนต์ ปิดที่ 3.2820 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนส.ค.ลดลง 4.38 เซนต์ ปิดที่ 2.9564 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.ย.ร่วงลง 2.98 ดอลลาร์ ปิดที่ 117.70 ดอลลาร์/บาร์เรล
สตีเฟน ชอร์ค นักวิเคราะหป์จากบริษัทวิลลาโนวา ในรัฐเพนซิลวาเนีย กล่าวว่า "บรรยากาศการซื้อขายในตลาดถูกปกคลุมด้วยปัจจัยทางจิตวิทยา ซึ่งรวมถึงกระแสคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัวลง นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจที่ซบเซาลงและราคาพลังงานที่แพงขึ้นจะทำให้ความต้องการพลังงานลดลงด้วย ซึ่งบรรยากาศดังกล่าวกดดันให้นักลงทุนกระหน่ำขายสัญญาน้ำมันดิบ"
ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่ว่า ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคประจำเดือนมิ.ย.ร่วงลง 0.8% ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเบนซินภายในประเทศที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งการลดลงของตัวเลขดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่า ภาวะตกต่ำในตลาดที่อยู่อาศัยและราคาน้ำมันเบนซินภายในประเทศที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง กำลังบั่นทอนอำนาจซื้อของผู้บริโภคและฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ถดถอยลงด้วย
ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่ฉุดราคาน้ำมันร่วงลงมาจากรายงานที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นผลจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากซาอุดิอาระเบีย ในขณะที่ประเทศอื่นๆผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม ไมค์ ฟิทซ์แพทริค นักวิเคราะห์จากบริษัทเอ็มเอฟ โกลบอล เชื่อว่า ราคาน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากหลายปัจจัย รวมถึงสถานการณ์ที่ไม่สงบในไนจีเรียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่สุดในทวีปแอฟริกา และสถานการณ์ตึงเครียดด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พลเอกโมฮัมหมัด-อาลี จาฟารี แห่งกองกำลังปฏิวัติอิหร่านเปิดเผยว่า อิหร่านได้ดำเนินการทดสอบอาวุธทางน้ำซึ่งสามารถโจมตีเป้าหมายที่อยู่ภายในรัศมี 300 กิโลเมตร พร้อมกับขู่ว่าอิหร่านสามารถปิดกั้นช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียและทะเลโอมาน และกล่าวว่าอิหร่านสามารถใช้อาวุธที่มีอยู่เป็นเครื่องมือเข้าควบคุมเส้นทางเดินเรือในช่องแคบดังกล่าว ซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันมากเกือบร้อยละ 40 ที่ซื้อขายกันอยู่ทั่วโลก
นอกจากนี้ การที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์เมื่อเทียบกับยูโร นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ฉุดราคาน้ำมันร่วงลงด้วย โดยดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นที่ 2% ตามความคาดหมายของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ และแสดงความกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐจะสูงขึ้นอีก
นักลงทุนส่วนใหญ่จับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันซึ่งกระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันพุธ (ตามเวลาประเทศไทย) โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินจะลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--