ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลง 99 เซนต์เมื่อคืนนี้ (14 ส.ค.) จากแรงขายทำกำไร โดยนักลงทุนให้น้ำหนักกับข้อมูลที่บ่งชี้ว่าความต้องการพลังงานในกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ลดลง มากกว่าข่าวการสู้รบระหว่างกองกำลังทหารรัสเซียและจอร์เจีย นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งแกร่งขึ้น
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ย.ปิดร่วงลง 99 เซนต์ แตะที่ 115.01 ดอลลาร์/ออนนซ์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 116.25-113.40 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนส.ค.ปิดลดลง 3.26 เซนต์ แตะที่ 3.0991 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนส.ค.ลดลง 2.03 เซนต์ ปิดที่ 2.912 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.ย.ปิดร่วงลง 83 เซนต์ แตะที่ 112.64 ดอลลาร์/บาร์เรล
จิม ริทเทอร์บุช นักวิเคราะห์จากบริษัทริทเทอร์บุช แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ในรัฐอิลลินอยส์กล่าวว่า "ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 0.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 0.4% และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ปีครึ่ง ซึ่งเป็นผลจากราคาพลังงานและอาหารที่แพงขึ้น
นักลงทุนยังเทขายสัญญาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทอื่นๆ หลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ประกาศลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันใน 30 ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันในประเทศยุโรปและอเมริกาเหนือลงสู่ระดับ 48.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปีที่แล้วประมาณ 1.3% พร้อมระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะชี้ชัดว่าราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงในขณะนี้จะเป็นแนวโน้มในระยะยาว
กระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 8 ส.ค.ลดลง 400,000 บาร์เรล แตะระดับ 296.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ธอมสัน ไฟแนนเชียลคาดว่าจะขยับลงเพียง 200,000 บาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินร่วงลง 6.4 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 202.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 2.1 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 131.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่คาดว่าจะพุ่งขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นร่วงลง 1.1% แตะระดับ 85.9%
แม้นักลงทุนให้น้ำหนักต่อข้อมูลอุปสงค์มากกว่าสถานการณ์ในรัสเซียและจอร์เจีย แต่นักลงทุนยังคงจับตาดูสถานการณ์รุนแรงระหว่างสองประเทศ โดยเมื่อวานนี้มีรายงานว่า บัน กี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ไปยังจอร์เจียซึ่งกำลังเผชิญกับสภาพย่ำแย่หลังจากที่เกิดเหตุสู้รบอย่างรุนแรงกับรัสเซีย ขณะที่คอนโดลิสซา ไรซ์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้ออกมาเตือนรัสเซียว่า รัสเซียอาจจะถูกโดดเดี่ยวจากนานาประเทศ หากรัสเซียไม่ยอมยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งหมดในจอร์เจีย
อับคาเซียและเซาท์ ออสเซเทีย ได้พยายามแยกตัวออกมาจากการปกครองของจอร์เจียเมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 90 และได้ประกาศตัวเป็นอิสรภาพ แต่ก็ยังไม่มีประเทศใดๆให้การรับรอง ขณะที่ยูเอ็นก็ได้ส่งหน่วยสังเกตการณ์ทางทหารไปยังอับคาเซียตั้งแต่ปี 2536
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--