ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (15 ส.ค.) และเคลื่อนตัวแตะระดับต่ำสุดในรอบสามเดือนที่ 111 ดอลลาร์ในการซื้อขายระหว่างวัน หลังจากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และโอเปคคาดการณ์ว่าอุปสงค์เชื้อเพลิงทั่วโลกในปีหน้าจะทรุดลงถึงจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ย.ปิดร่วงลง 1.24ดอลลาร์ แตะที่ 113.77 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากทรุดลงแตะ 111.34 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. และต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 147 ดอลลาร์เมื่อวันที่ 11 ก.ค. อยู่ถึง 35 ดอลลาร์ หรือคิดเป็น 24%
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนส.ค.ปิดขยับขึ้น 2 เซนต์ แตะที่ 3.1191 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนส.ค.ลดลง 5.18 เซนต์ ปิดที่ 2.8602 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.ย.ปิดร่วงลง 1.13 ดอลลาร์ แตะที่ 112.55 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบร่วงลงหลังจากที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ว่าผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนก.ค.เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ ขณะที่เงินยูโรร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีหลักฐานที่ชัดเจนมากขึ้นว่าเศรษฐกิจยุโรปกำลังประสบภาวะชะลอตัว การซื้อขายยูโรเมื่อวานนี้อยู่ที่ $1.4675 ลดลงจาก $1.4811 เมื่อวันพฤหัสบดี
โดยปกติแล้วเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจะกดให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนที่ซื้อสัญญาน้ำมันดิบและโภคภัณฑ์อื่นๆเพื่อเก็งกำไร จะเทขายสัญญาที่อยู่ในมือเพื่อลดการขาดทุน นอกจากนี้เงินดอลลาร์ที่สูงขึ้นยังทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อขายกันด้วยสกุลเงินดอลลาร์มีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ซื้อต่างชาติ
ฟิล ฟลินน์ นักวิเคราะห์ตลาดน้ำมันจาก Alaron Trading Corp. ในชิคาโก กล่าวว่า "เงินดอลลาร์กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ทำให้ผู้คนต้องกลับมาประเมินทุกสิ่งทุกอย่างใหม่ หมายความว่าราคาน้ำมันอาจดิ่งลงอย่างน่าใจหาย เราอาจจะได้เห็นราคาน้ำมันในระดับตัวเลขสองหลัก ถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไป"
นอกจากนี้ การคาดการณ์ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ โอเปค ก็ช่วยกดดันให้ราคาน้ำมันร่วงลงด้วยเช่นกัน โดยในรายงานประจำเดือนของกลุ่มโอเปค ได้มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันของโลกโดยรวมในปีนี้จะลดลง 30,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่อุปสงค์ในปีหน้าจะอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2545 โดยมีสาเหตุมาจากความต้องการที่ลดลงของประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ
นักวิเคราะห์ระบุว่า ความขัดแย้งในจอร์เจีย ซึ่งมีไฮไลท์สำคัญประการหนึ่งอยู่ที่อิทธิพลของรัสเซียที่มีต่อแหล่งสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในภูมิภาค โดยรัสเซียส่งออกน้ำมันมากกว่าทุกประเทศ ยกเว้นซาอุดิอาระเบีย และเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งหากเป็นสัปดาห์ก่อนๆ คราวความขัดแย้งดังกล่าวคงจะหนุนให้ราคาน้ำมันพุ่งทะยานขึ้น แต่กลายเป็นว่าตลาดกลับไม่สนใจข่าวการสู้รบในจอร์เรีย เนื่องจากเทรดเดอร์ได้ประเมินความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมืองไว้อยู่แล้ว
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปนัยดา ปัทมโกวิท โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--