ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: ราคาน้ำมันร่วงแตะ 114.59 ดอลล์หลังดอลล์แข็ง-รัสเซียถอนทหาร

ข่าวต่างประเทศ Saturday August 23, 2008 09:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 6 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (22 ส.ค.) ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ร่วงมากที่สุดในรอบ 1 วันในรอบเกือบ 4 ปี หลังจากที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและการที่กองทัพรัสเซียถอนทหารออกจากจอร์เจียส่งผลให้เกิดการเทขายในตลาด
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนต.ค.ร่วงลง 6.59 ดอลลาร์ หรือ 5.43% ปิดที่ 114.59 ดอลลาร์/บาร์เรล นับเป็นสถิติที่ร่วงลงแรงสุดในรอบ 1 วัน นับตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2547 ที่ราคาน้ำมันตกลง 6.47%
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนก.ย.ร่วงลง 16.95 เซนต์ ปิดที่ 3.1311 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนก.ย.ปิดลบ 17.66 เซนต์ แตะที่ 2.8686 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนต.ค.ดิ่งลง 6.24 ดอลลาร์ ปิดที่ 113.92 ดอลลาร์/บาร์เรล
การที่ราคาน้ำมันดิบร่วงลงนี้ถือเป็นการตอกย้ำมุมมองที่ว่า ราคาน้ำมันที่ดีดตัวขึ้นส่งผลกระทบต่อความต้องการน้ำมันของผู้บริโภคในสหรัฐและต่างประเทศ
จิม ริตเตอร์บุช ประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานของริตเตอร์บุช แอนด์ แอสโซซิเอทส์ กล่าวว่า ราคาน้ำมันเคลื่อนตัวอย่างผันผวนมาก หลังจากที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแรง ซึ่งการที่ราคาน้ำมันเคลื่อนตัวขึ้นลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าเรายังคงอยู่ในภาวะตลาดหมี ซึ่งไม่มีความต้องการมากนัก
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันร่วงลงจากข่าวเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าและการถอนทหารรัสเซียออกจากฐานที่ตั้งที่สำคัญในจอร์เจียเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ภายใต้เส้นตายข้อตกลงหยุดยิง อย่างไรก็ดี ยังมีรายงานที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับความคืบหน้าในการถอนทหารครั้งนี้
รัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซียกล่าวว่า ได้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของจอร์เจียแล้ว แต่โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า การจัดตั้งแนวกำบังขึ้นมาในจอร์เจียนั้นไม่ได้มีการระบุไว้ในข้อตกลง
เทรดเดอร์น้ำมันยังคงจับตาเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลที่ว่า เหตุการณ์รุนแรงอาจจะส่งผลกระทบต่อการจัดส่งน้ำมันให้กับประเทศตะวันตก เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และจัดหาน้ำมันป้อนกลุ่มประเทศอียูถึง 1 ใน 4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ