ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเหนือระดับ 118 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ (27 ส.ค.) ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เนื่องจากกระแสความวิตกกังวลที่ว่าพายุโซนร้อน"กุสตาฟ"อาจทวีความรุนแรงเป็นพายุเฮอริเคนและกระหน่ำอ่าวเม็กซิโกซึ่งเป็นพื้นที่การผลิตน้ำมันและก๊าสที่สำคัญของสหรัฐ นอกจากนี้ สต็อกน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์ที่ร่วงลงเกินคาดของสหรัฐ นับเป็นอีกปัจจัยที่หนุนราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเช่นกัน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนต.ค.พุ่งขึ้น 1.88 ดอลลาร์ ปิดที่ระดับ 118.15 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในระหว่างวันที่ 119.63 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนต.ค.ดีดขึ้น 5.18 เซนต์ ปิดที่ 3.2617 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนต.ค.ปิดบวก 9.75 เซนต์ ปิดที่ 3.0672 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนต.ค.พุ่งขึ้น 1.59 ดอลลาร์ ปิดที่ 116.22 ดอลลาร์/บาร์เรล
ตลาดน้ำมันนิวยอร์กตื่นตระหนกนับตั้งแต่ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติเตือนว่า พายุกุสตาฟ ซึ่งมีความเร็วลมประมาณ 60 ไมล์ (96 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง จะทวีความรุนแรงจนกลายเป็นพายุเฮอริเคนและมีแนวโน้มว่าจะพัดเข้าสู่ชายฝั่งในอ่าวเม็กซิโกในระหว่างวันที่ 30 ส.ค.-1 ก.ย.นี้
บริษัทสำรวจน้ำมันหลายแห่งเริ่มย้ายฐานแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซที่อ่าวเม็กซิโกเพื่อรับมือกับพายุ"กุสตาฟ"ที่อาจทวีความรุนแรงเป็นพายุลูกใหญ่ที่สุดที่เข้ากระหน่ำพื้นที่ดังกล่าวในรอบ 3 ปี
บริษัททรานโอเซียน อิงค์ (Transocean Inc., ) ซึ่งเป็นผู้ขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งรายใหญ่ที่สุดในโลกเริ่มระงับการผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ขณะที่เดสติน สิงเลตัน โฆษกของบริษัทโรยัล ดัชต์ เชลล์ พีแอลซี (Royal Dutch Shell Plc) กล่าวว่า บริษัทได้อพยพพนักงานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตหรือการขุดเจาะน้ำมันออกจากพื้นที่ดังกล่าวด้วยเช่นกัน
แท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งบริเวณอ่าวเม็กซิโกสามารถสูบก๊าซธรรมชาติขึ้นมาได้ประมาณ 14% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในสหรัฐและยังเป็นแหล่งผลิตน้ำมันได้ 1 ใน 5 ของผลผลิตน้ำมันภายในประเทศ ขณะที่ประมาณ 2 ใน 3 ของน้ำมันที่ใช้สหรัฐในแต่ละวันนั้นได้มาจากการนำเข้า
บาร์บ เฮสเตอร์แมนน์ โฆษกหญิงของสถานีสูบน้ำมัน Louisiana Offshore Oil Port กล่าวว่า สถานีสูบน้ำมันแห่งนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐและมีกำลังการผลิตน้ำมัน 1.1-1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเฮสเตอร์แมนน์กล่าวว่า "เรากำลังจับตาความรุนแรงของพายุเฮอริเคน ซึ่งเราคาดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อฐานการผลิตน้ำมันมากที่สุด"
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นหลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า สต๊อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 22 ส.ค. ร่วงลง 100,000 บาร์เรล แตะระดับ 305.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของปีที่แล้วประมาณ 6.1% และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.1 ล้านบาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินร่วงลง 1.2 ล้านบาร์เรล หรือ 0.6% แตะระดับ 195.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าระดับของปีที่แล้วประมาณ 1.1% แต่ยังลดลงไม่มากเท่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะร่วงลง 2.8 ล้านบาร์เรล และสต็อกมันกลั่นซึ่งรวมถึงน้ำมันฮีทติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ทรงตัวอยู่ที่ 132.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 400,000 บาร์เรล
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานระบุว่า ความต้องการน้ำมันเบนซินโดยเฉลี่ยรอบ 4 สัปดาห์อยู่ที่ 9.4 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 1.6% แตะระดับ 87.3%
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--