ราคาน้ำมัน NYMEX ลดแตะ $109.17 เช้านี้ หลังอุปสงค์น้ำมันชะลอตัวลง

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 4, 2008 10:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกที่ตลาดสิงคโปร์ปรับตัวลดลงเล็กน้อยในช่วงเช้าวันนี้ เนื่องจากเทรดเดอร์หันเหความสนใจจากพายุเฮอริเคน"กุสตาฟ" ไปจับตาดูทิศทางเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มความต้องการพลังงานที่ซบเซาลงแทน
ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงกว่า 6 ดอลลาร์นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา หลังมีรายงานว่าพายุกุสตาฟที่พัดเข้าสู่อ่าวเม็กซิโกไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับแหล่งขุดเจาะน้ำมันมากเท่าที่เคยคาดการณ์ไว้
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ณ เวลา 09.25 น.ตามเวลาประเทศไทย สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนต.ค.ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกในตลาดสิงคโปร์ ลดลง 18 เซนต์ แตะที่ระดับ 109.17 ดอลลาร์/บาร์เรล ในขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ทะเลเหนือในตลาดลอนดอน ลดลง 16 เซนต์ สู่ระดับ 107.90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งถือว่าเป็นการปรับลดลงเป็นวันที่ 6 ติดต่อกันแล้ว
การที่ความต้องการน้ำมันในสหรัฐและประเทศอื่นๆลดลงเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดให้ราคาน้ำมันลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เกือบ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เทรดเดอร์เกรงว่าพายุลูกต่อๆไปอาจสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นอีกครั้ง
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า สหรัฐจะต้องเผชิญกับพายุราว 14-18 ลูกในฤดูมรสุมปีนี้ซึ่งจะสิ้นสุดที่เดือนพ.ย. ซึ่งมากกว่าในอดีตที่มีพายุสูงสุด 10 ลูก
"เรายังอยู่ในฤดูมรสุม พายุกุสตาฟอาจผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังมีพายุเฮอริเคนอีกหลายลูกที่กำลังมุ่งหน้ามาหาเรา" เจอร์ราด ริกบี นักวิเคราะห์จาก Fuel First Consulting ในซิดนีย์ กล่าว
นอกจากเรื่องพายุแล้ว เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องในระยะหลังยังเป็นอีกปัจจัยที่กดให้ราคาน้ำมันปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงแล้วเมื่อเทียบเงินยูโร หลังจากที่แข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนเมื่อวานนี้
คาดว่าในวันนี้นักลงทุนจะหันไปให้ความสนใจปริมาณน้ำมันสำรองของสหรัฐมากกว่าปัจจัยอื่นๆ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าปริมาณน้ำมันดิบสำรองประจำสัปดาห์ที่ผ่านมาน่าจะเพิ่มขึ้น 200,000 บาร์เรล, ปริมาณน้ำมันเบนซินน่าจะลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล และปริมาณน้ำมันกลั่นน่าจะเพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ