ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กร่วงลงอีกกว่า 4 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (16 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกระหน่ำขายสัญญาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง ด้วยความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลงอาจส่งผลให้ความต้องการพลังงานลดลงด้วย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนต.ค.ร่วงลง 4.56 ดอลลาร์ ปิดที่ระดับ 91.15 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากดิ่งลงแตะระดับ 90.51 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนต.ค.ลดลง 16.06 เซนต์ ปิดที่ 2.4008 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนต.ค.ร่วงลง 7.15 เซนต์ ปิดที่ 2.7197 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.ดิ่งลง 5.02 ดอลลาร์ ปิดที่ 89.22 ดอลลาร์/บาร์เรล
เจมส์ คอร์ดิเยร์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Liberty Trading Group ในรัฐฟลอริด้า กล่าวว่า "เศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลงและภาวะปั่นป่วนในตลาดการเงินที่เกิดขึ้นหลังจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนว่า เศรษฐกิจที่ซบเซาเช่นนี้จะทำให้ผู้บริโภคลดการขับขี่ยานยนต์ ลดการใช้บริการด้านการบิน นักลงทุนจึงตัดสินเทขายสัญญาน้ำมันดิบหลายวันติดต่อกัน"
นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อคน้ำมันประจำสัปดาห์ของสหรัฐซึ่งกระทรวงพลังงานจะเปิดเผยในคืนวันพุธ (ตามเวลาประเทศไทย) โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าสต็อคน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ร วันที่ 12 ก.ย. จะร่วงลง 3.4 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นอาจลดลง 2 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินอาจลดลง 4 ล้านบาร์เรล
นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงจับตาดูสถานการณ์ในตลาดการเงิน หลังจากเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐยืนยันว่า บริษัทได้มยื่นขอความคุ้มครองทรัพย์สินตามกฎหมายล้มละลาย และเมอร์ริล ลินช์ วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ตกลงขายกิจการให้กับแบงก์ ออฟ อเมริกา ขณะที่บริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์ (AIG) ขาดสภาพคล่องอย่างหนักจนต้องขอเงินกู้โดยตรงจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์
คอร์ดิเยร์กล่าวว่า "อีกปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันคือการที่เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้น (fed funds rate) ไว้เท่าเดิมที่ 2.00% แม้เฟดให้เหตุผลว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะผ่อนคลายภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อและคลี่คลายสถานการณ์ปั่นป่วนในตลาดก็ตาม"
ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติสหรัฐรายงานว่า พายุเฮอริเคนไอค์สร้างความเสียหายแก่แท่นขุดเจาะน้ำมัน 2-3 แห่งในอ่าวเม็กซิโก โดยในช่วงเช้าวันอังคารนี้ สหรัฐยังคงปิดการผลิตน้ำมันดิบราว 97.2 % ในอ่าวเม็กซิโก หรือ เกือบ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
โรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐยังคงปิดทำการ 13 แห่ง หรือเท่ากับ 19.6 % ของกำลังการกลั่นน้ำมันในสหรัฐ โดยมีโรงกลั่นน้ำมัน 8 แห่งที่เปิดทำการในอัตราการกลั่นที่ต่ำกว่าปกติ
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--