ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดเพิ่มขึ้นปานกลางเมื่อคืนนี้ (18 ก.ย.) หลังจากที่ราคาทะยานขึ้นเหนือระดับ 100 ดอลลาร์ในระหว่างวัน เนื่องจากนักลงทุนมองว่าการลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เป็นการลงทุนในปลอดภัยมากกว่าในยามที่ตลาดการเงินเผชิญวิกฤตการณ์ อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายค่อนข้างผันผวนเนื่องจากนักลงทุนยังคงให้น้ำหนักกับการคาดการณ์ที่ว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอาจทำให้ความต้องการพลังงานลดลงด้วย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนต.ค.ปิดบวก 72 เซนต์ แตะที่ระดับ 97.88 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับระดับสูงสุดในระหว่างวันที่ 102.24 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนต.ค.ลดลง 4.23 เซนต์ ปิดที่ 2.7824 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนต.ค.ดีดขึ้น 2 เซนต์ ปิดที่ 2.4824 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.ดีดตัวขึ้น 35 เซนต์ ปิดที่ 95.19 ดอลลาร์/บาร์เรล
ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Alaron Trading Corp.ในชิคาโก กล่าวว่า "ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันนิวยอร์กผันผวนมาก เนื่องจากนักลงทุนมีปฏิกริยาต่อตลาดการเงินที่แตกต่างกันไป โดยบางกลุ่มมองว่าวิกฤติการเงินในขณะนี้กำลังฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงและจะทำให้ความต้องการพลังงานลดน้อยลงไปด้วย ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าการลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เป็นทางออกที่ดีและปลอดภัยในยามที่ตลาดการเงินผันผวนอย่างหนักในขณะนี้"
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่ฟื้นตัวขึ้นหลังจาก นายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐกำลังพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานที่คล้ายคลึงกับ 'บรรษัททรัสต์เพื่อการกอบกู้กิจการ' เพื่อจัดการกับหนี้เสียและยับยั้งตลาดไม่ให้ตกอยู่ในภาวะล่มสลายหลังจากวาณิชธนกิจรายใหญ่ล้มละลาย รวมถึง แบร์ สเติร์นส และเลห์แมน บราเธอร์ส
ธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ธนาคารกลางสวิส และธนาคารกลางแคนาดา ประกาศลงนามในข้อตกลงพื่อลดภาวะสภาพคล่องตึงตัว โดยข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมถึงการที่เฟดขยายวงเงินสว็อปที่ 1.80 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนอีซีบี ธนาคารกลางอังกฤษและ ธนาคารกลางสวิส จะระดมเงินทุนในรูปสกุลเงินดอลลาร์
กระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 12 ก.ย. ร่วงลง 6.3 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 291.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ธอมสัน ไฟแนนเชียลคาดว่าจะลดลงเพียง 3.8 ล้านบาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นลดลง 900,000 บาร์เรล แตะระดับ 129.6 ล้านบาร์เรล แต่ยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะร่วงลง 1.9 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 3.3 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 184.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าที่คาดว่าจะร่วงลง 3.8 ล้านบาร์เรล ส่วนอัตราการกลั่นน้ำมันลดลง 0.9% แตะระดับ 77.4%
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--