ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเหนือระดับ 120 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ (22 ก.ย.) โดยในระหว่างวันราคาทะยานขึ้นกว่า 25 ดอลลาร์ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดในการซื้อขายภายในวันเดียว เนื่องจากความไม่มั่นใจในมาตรการแก้ป้ญหาภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ได้ฉุดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอย่งหนัก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนให้แห่เข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบ นอกจากนี้ การที่สัญญาน้ำมันดิบเดือนต.ค.ครบกำหนดส่งมอบในวันจันทร์นับเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่กระตุ้นนักลงทุนให้เข้าซื้อ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนต.ค.ปิดพุ่งขึ้น 16.37 ดอลลาร์ แตะที่ 120.92 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยในระหว่างวันราคาพุ่งขึ้นรุนแรง 25.45 ดอลลาร์ แตะที่ระดับ 130 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนต.ค.พุ่งขึ้น 14.52 เซนต์ ปิดที่ 3.043 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนต.ค.ปิดบวก 10.41 เซนต์ ปิดที่ 2.7038 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.ปิดพุ่งขึ้น 6.43 ดอลลาร์ แตะที่ 106.04 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักลงทุนแห่เข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบอย่างหนาแน่น ส่งผลให้คณะกรรมการกำกับดูแลการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดล่วงหน้าของสหรัฐ (CFTC) ยื่นมือเข้าตรวจสอบว่ามีการปั่นราคาในตลาดหรือไม่ โดยนายวอลเตอร์ ลัคเคน ประธาน CFTC กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบของ CFTC เข้าตรวจสอบการปั่นราคาเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีนักลงทุนฉวยโอกาสในช่วงที่สถานการณ์ในตลาดการเงินยังผันผวน ทำการปั่นราคาน้ำมัน
ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากบริษัทเอลารอน เทรดดิ้ง ในเมืองชิคาโก กล่าวว่า "ความวิตกกังวลที่ว่ามาตรการมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐประกาศว่าจะใช้ในการช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหานั้น จะสามารถพยุงเศรษฐกิจและกระตุ้นตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ส่งผลให้นักลงทุนปลีกตัวออกจากตลาดหุ้นและตลาดปริวรรตเงินตรา และเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบและทองคำอย่างคับคั่ง ซึ่งเป็นเหตุให้ตลาดหุ้นนิวยอร์กและค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงอย่างหนัก"
ขณะที่จิม ริทเทอร์บุช นักวิเคราะห์จาก Ritterbusch and Associates ในรัฐอิลลินอยส์กล่าวว่า "การร่วงลงของค่าเงินดอลลาร์กระตุ้นนักลงทุนให้เข้าซื้อสัญญาทองคำและน้ำมัน เพราะดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงจะทำให้ราคาสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ถูกลงด้วย"
วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินนับตั้งแต่เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย ส่งผลให้ทางการสหรัฐเร่งหาทางออกในหลายๆด้าน จนกระทั่งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศแผนกู้วิกฤติการเงินด้วยการทุ่มงบประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์เข้าซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงินและเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด ซึ่งบุชระบุว่าเป็นมาตรการครั้งใหญ่ที่ไม่เคยใช้มาก่อน
สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) คาดการณ์ว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มดีดตัวขึ้น หลังจากทรุดตัวลงหนักสุดในรอบ 52 ปี โดยคาดว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะได้รับแรงหนุนจากกลุ่มนักเก็งกำไรและข่าวที่ว่ารัฐบาลสหรัฐประกาศใช้มาตรการกอบกู้วิกฤตการเงินครั้งใหญ่
ทั้งนี้ ณ วันที่ 19 ก.ย. ดัชนี Standard & Poor's GSCI Index ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความเคลื่อนไหวของสินค้าโภคภัณฑ์ พุ่งขึ้นแข็งแกร่งสุดในรอบ 18 ปี หลังจากรัฐบาลสหรัฐประกาศทุ่มงบประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์เพื่อเข้าซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน โดยราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้น 6.8% ขณะที่ราคาข้าวสาลีและโลหะทองแดงพุ่งขึ้น 3.6%
ไมเคิล เพนโต นักยุทธศาสตร์ด้านกรลงทุนจากบริษัท Delta Global Advisors ในนิวเจอร์ซี แสดงความเห็นว่า "มาตรการเชิงรุกของรัฐบาลสหรัฐช่วยลดกระแสความตื่นตระหนก และเป็นปัจจัยบวกที่หนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น ผิดจากในช่วง 6 สัปดาห์ที่แล้วที่นักลงทุนเทขายสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างหนักและปลีกตัวออกนอกตลาด แต่ขณะนี้นักลงทุนเริ่มกลับเข้าเทรดในตลาดอย่างคึกคัก"
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--