ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (23 ก.ย.) โดยราคาร่วงลงต่ำกว่าระดับ 107 ดอลลาร์/บาร์เรลเนื่องจากความไม่นอนเกี่ยวกับแผนการช่วยเหลือสถาบันการเงินในสหรัฐ นอกจากนี้ การที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นยังส่งผลให้นักลงทุนเทขายสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงน้ำมัน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 2.76 ดอลลาร์ ปิดที่ 106.61 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในระหว่างวันที่ 104.05 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 2.96 ดอลลาร์ ปิดที่ 103.08 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 5.02 เซนต์ ปิดที่ 3.0132 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 10.88 เซนต์ ปิดที่ 2.595 ดอลลาร์/แกลลอน
แม้สัญญาน้ำมันดิบเดือนพ.ย.ปิดร่วงลง แต่นักวิเคราะห์หลายคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มพุ่งขึ้นอีก เนื่องจากภาวะอุปทานตึงตัวทั่วโลก อีกทั้งสกุลเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง และความวิตกกังวลเกี่ยวกับแผนการกอบกู้วิกฤตการณ์ในภาคการเงินของสหรัฐด้วยการใช้งบประมาณมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ อาจทำให้นักลงทุนแห่ถอนฐานการลงทุนออกจากตลาดหุ้นและอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ตลาดน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติแผนการดังกล่าวอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเตือนว่าความล่าช้าจะทำให้เศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยง แต่สมาชิกสภาคองเกรสให้เหตุผลว่า แผนการดังกล่าวยังขาดรายละเอียดที่ครอบคลุม
สตีเฟ่น ชอร์ค นักวิเคราะห์จาบริษัท วิลลาโนวา ในเพนซิลวาเนีย กล่าวว่า "เราคาดว่าราคาน้ำมันจะดีดตัวขึ้นแตะระดับ 150 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งหากค่าเงินดอลลาร์ยังไร้เสถียรภาพและเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ผมก็เชื่อว่านักลงทุนจะเทเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อย่างหนาแน่น"
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สัญญาน้ำมันดิบส่งมอบเดือนต.ค.ปิดพุ่งขึ้น 16.37 ดอลลาร์ แตะที่ 120.92 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยในระหว่างวันราคาพุ่งขึ้นรุนแรง 25.45 ดอลลาร์ แตะที่ระดับ 130 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลให้คณะกรรมการกำกับดูแลการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดล่วงหน้าของสหรัฐ (CFTC) กำลังตรวจสอบราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ที่พุ่งขึ้นรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ว่า มีการ "ปั่นราคา" ในตลาดหรือไม่
นักวิเคราะห์มองว่า การดำเนินการของ CFTC มีเป้าหมายที่จะจำกัดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับราคาน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมานั้นราคาน้ำมันพุ่งขึ้นจากหลายปัจจัย รวมถึงความต้องการพลังงานในจีนและกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ ที่พุ่งสูงขึ้น สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลง ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่กระตุ้นให้นักลงทุนสถาบันเข้าซื้อสัญญาน้ำมัน และส่งผลให้ราคาสัญญาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง
นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ซึ่งกระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันพุธ (ตามเวลาประเทศไทย) ส่วนในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 12 ก.ย. สต็อกน้ำมันดิบ ร่วงลง 6.3 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 291.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 3.8 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 3.3 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 184.6 ล้านบาร์เรล ต่ำกว่าที่คาดว่าจะร่วงลง 3.8 ล้านบาร์เรล
--อินโฟเควสท์ โดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--