ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 1 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (26 ก.ย.) เนื่องจากแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในสภาคองเกรส ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญวิกฤตรุนแรงและส่งผลบั่นทอนความต้องการพลังงาน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 1.13 ดอลลาร์ ปิดที่ 106.89 ดอลลาร์ หลังจากดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในระหว่างวันที่ 104.25 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 1.06 ดอลลาร์ ปิดที่ 103.54 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 3.22 เซนต์ ปิดที่ 2.6651 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนพ.ย.ปิดลบ 3.09 เซนต์ แตะที่ 3.0174 ดอลลาร์/แกลลอน
จิม ริทเทอร์บุช ประธานบริษัท Ritterbusch and Associates ในรัฐอิลลินอยส์กล่าวว่า "ราคาน้ำมันเคลื่อนตัวผันผวนมาก ขณะที่นักลงทุนจับตารอคอยแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ที่คณะทำงานของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช เสนอต่อสภาคองเกรส แต่แผนการดังกล่าวยังไม่ผ่านความเห็นชอบของสมาชิกคองเกรสบางคน จึงทำให้เกิดกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้"
เมื่อวานนี้ คริสโตเฟอร์ ด็อดด์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภากล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า ในเบื้องต้นนั้นวุฒิสภาเห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ แต่แผนการดังกล่าวอาจไม่ราบรื่นเมื่อสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันบางคนยื่นข้อเสนอทางเลือกอื่นในการคลี่คลายวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งสมาชิกของรีพับลิกันเหล่านี้มีนายอิริก แคนเตอร์ เป็นผู้นำทีม
"หากเฮนรี พอลสัน รมว.คลัง สนับสนุนข้อเสนอของแคนเตอร์ การเจรจาก็จะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด โดยการเจรจาเรื่องดังกล่าวจะเริ่มขึ้นอีกครั้งในคืนนี้ ทางเลือกที่แคนเตอร์นำเสนอในสภาก็คือการใช้เงินจากกองทุนประกันหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (MBS) มาใช้กู้วิกฤตการณ์ในภาคการเงิน แทนที่จะใช้เงินภาษีราษฎรมาซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน" ด็อดด์กล่าวกับผู้สื่อข่าว
ขณะที่วุฒิสมาชิกแคนเตอร์โต้แย้งว่า "ข้อเสนอของเรามุ่งเน้นหลักการที่ว่า เราจะไม่ละทิ้งชาวอเมริกันผู้เสียภาษี และให้สถาบันการเงินในวอลล์สตรีทมีส่วนรับผิดชอบในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและมีส่วนในการ "เฉือนเนื้อตัวเองบ้าง" เพื่อให้สภาวะโดยรวมฟื้นตัวขึ้น" ขณะที่ เจ๊บ เฮนซาร์ลิง วุฒิสมาชิกรัฐเท็กซัสกล่าวว่า "เราไม่ควรใช้แผนของรมว.พอลสัน"
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีบุชเตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะยาว หากสภาคองเกรสไม่เร่งผ่านนโยบายกู้วิกฤตการเงินมูลค่ากว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ธุรกิจหลายภาคส่วนอาจต้องล่มสลายและจะทำให้มีคนตกงานจำนวนมาก
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--