นายนิทัศน์ ภัทรโยธิน กรรมการและผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรแห่งประเทศไทย (ต.ส.ล. หรือ AFET) เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดสินค้าเกษตรแห่งประเทศไทยเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้ประกอบการ นักลงทุน มากขึ้น โดยสังเกตจากปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 597 สัญญา/วัน จากปี 50 ที่ปริมาณการซื้อขายในแต่ละวันจะอยู่ที่ประมาณ 402 สัญญา/วัน
โดยในจำนวนการซื้อขายเกือบ 600 สัญญานี้ แบ่งเป็น ยางพารา 65% ข้าว 34% และที่เหลือคืออื่นๆ
สำหรับประเภทของนักลงทุนที่เข้ามาใช้กลไกการของตลาด AFET นี้ ได้แก่ นักลงทุน 60% ผู้ประกอบการ 40ลาด% ส่วนกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มสหกรณ์ยังเข้ามาใช้กลไกของตลาดสินค้าเกษตรน้อยมาก เนื่องจากยังขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดสินค้าเกษตร ว่าคืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร ซึ่งทาง AFETจะเกี่ยวข้องเงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คนกลุ่มนี้เข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดสินค้าเกษตรมากขึ้น
นายนิทัศน์ กล่าวว่า ในปีนี้ AFET จะยังคงเดินหน้าเพื่อผลักดันให้ปริมาณการซื้อขายถึงวันละ 1 พันสัญญาตามที่เคยประกาศไว้ ซึ่งในปีนี้ก็มีบางช่วงที่ปริมาณการซื้อขายสามารถทำได้ ก็จะพยายามทำต่อไป โดยเป้าหมายของ AFET ในปีหน้าคือการทำให้ปริมาณการซื้อขายต่อวันอยู่ที่ 1.5 พันสัญญา
สำหรับแนวทางและความเป็นไปได้ในการนำสินค้าใหม่เข้ามาซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยนั้น นายนิทัศน์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะได้มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้อง แต่เบื้องต้นน่าจจะเป็นการพูดคุยกันถึงสินค้าที่ซื้อขายอยู่ปัจจุบันแต่ยังไม่ได้รับความนิยมคือมันสำปะหลัง โดยอาจจะมีการปรับสเป็คของข้อตกลงสัญญาให้เป็น Both Options เหมือนกับสินค้าข้าวขาว 5% แล้วรอให้สินค้าที่เทรดอยู่ตอนนี้คือมันสำปะหลังเส้นหมดอายุไปก่อนแล้วจึงนำตัวใหม่เข้ามาสวมแทน
"สำหรับมันสำปะหลังยังต้องมีอยู่ในตลาดสินค้าเกษตร เพราะมองว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ มีเสน่ห์ และประเทศไทยปลูกเยอะ เพราะฉะนั้นต้องมีการหารือกับผู้ประกอบการถึงแนวทางการปรับปรุงให้เป็นที่ยอมรับแก่ทุกฝ่ายให้มากที่สุดก่อนที่จะนำเข้ามาซื้อขาย"นายนิทัศน์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี โทร.0-2253-5050 ต่อ 322 อีเมล์: nisarat@infoquest.co.th--