ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (2 ต.ค.) โดยราคาดิ่งลงต่ำกว่าระดับ 94 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์อาจไม่สามารถหนุนเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากภาวะถดถอยได้ และจะฉุดรั้งความต้องการพลังงานให้ลดลงด้วย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 4.56 ดอลลาร์ ปิดที่ 93.97 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2551
ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 4.77 ดอลลาร์ ปิดที่ 90.56 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 13.74 เซนต์ ปิดที่ 2.7095 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 24.7 เซนต์ ปิดที่ 7.481 ดอลลาร์/บาร์เรล
เอดิสัน อาร์มสตร็อง นักวิเคราะห์จาก Tradition Energy กล่าวว่า "นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบหลังจากวุฒิสภาสหรัฐอนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินเมื่อวานนี้ แต่แผนดังกล่าวต้องผ่านมติเห็นชอบจากสภาคองเกรสในการประชุมวันศุกร์อีกรอบ จึงจะมีผลบังคับใช้ได้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนมองว่าแผนดังกล่าวยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ความต้องการพลังงานลดลงไปด้วย"
วุฒิสภาสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 74 ต่อ 25 ให้อนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงเช้าวานนี้ตามเวลาประเทศไทย หลังจากสภาคองเกรสไม่ผ่านแผนการดังกล่าวไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยแผนฟื้นฟูภาคการเงินฉบับนี้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มค้ำประกันวงเงินฝากธนาคารที่ได้รับการค้ำประกันโดยบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) จากเดิมที่ 100,000 ดอลลาร์ เป็น 250,000 ดอลลาร์ อีกทั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งการเพิ่มเงื่อนไขดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะดึงดูดคะแนนเสียงจากสมาชิกสภาคองเกรสในการประชุมวันศุกร์นี้
ส่วนอีกปัจจัยที่ส่งผลให้นักลงทุนกระหน่ำขายสัญญาน้ำมันมาจากข้อมูลของกระทรวงพลังงานสหรัฐที่ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 26 ก.ย.พุ่งขึ้น 4.3 ล้านบาร์เรล หรือ 1.5% แตะระดับ 294.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.2 ล้านบาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 900,000 บาร์เรล หรือ 0.5% แตะระดับ 179.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะร่วงลง 1.6 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่นซึ่งรวมถึงน้ำมันฮีทติ้งออยล์และดีเซล ลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 123.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยับลงเพียง 1.4 ล้านบาร์เรล
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานระบุว่า ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในรอบ 4 สัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 26 ก.ย.อยู่ที่ระดับ 19 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลง 7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--