ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (7 ต.ค.) หลังจากราคาปรับตัวลงติดต่อกัน 4 วันทำการ โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นมาจากการที่นักลงทุนเริ่มชะลอคำสั่งขายและเริ่มจับตาดูว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐจะสามารถสกัดกั้นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจทั่วโลกได้หรือไม่
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ย.พุ่งขึ้น 2.25 ดอลลาร์ ปิดที่ 90.06 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในระหว่างวันที่ 93.02 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.ปิดบวก 98 เซนต์ แตะที่ 84.66 ดอลลาร์/บาร์
ส่วนสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้น 3.17 เซนต์ ปิดที่ 2.5057 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนพ.ย.ปิดบวก 1 เซนต์ แตะที่ 2.0628 ดอลลาร์/แกลลอน
จิม ริทเทอร์บุช ประธานบริษัท Ritterbusch and Associates ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานในรัฐอิลลินอยส์ กล่าวว่า "นักลงทุนชะลอคำสั่งขายจึงทำให้ราคาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้น หลังจากราคาทะยานขึ้นเกือบ 13 ดอลลาร์ในช่ง 4 วันทำการที่ผ่านมา โดยขณะนี้นักลงทุนเริ่มหันมาจับตาดูว่ามาตรการต่างๆที่รัฐบาลสหรัฐพยายามใช้กอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจนั้น จะสามารถสกัดกั้นช่วงขาลงของเศรษฐกิจทั่วโลกได้หรือไม่ เพราะหากเศรษฐกิจโลกทรุดตัวลงก็จะทำให้ความต้องการพลังงานลดน้อยลงด้วย"
นักลงทุนเริ่มเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบหลังจากมีรายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และกระทรวงการคลังสหรัฐซึ่งได้รับอำนาจภายใต้กฏหมายฟื้นฟูภาคการเงิน ประกาศมาตรการแก้ปัญหาวิกฤตการเงิน โดยระบุว่าอาจมีการปล่อยกู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อปล่อยสินเชื่อเข้าไปในระบบอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เฟดจะเริ่มจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร และเพิ่มการปล่อยกู้แก่ธนาคารเป็น 900,000 ล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง
นักลงทุนจับตาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มโอเปค หลังจากนายกาโล่ ชีริโบกา รองประธานของกลุ่มโอเปคออกมาส่งสัญญาณว่าอาจมีการลดเพดานการผลิตน้ำมัน
นายชีริโบกาออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ว่า "ความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลกที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน และการใช้น้ำมันในสหรัฐ ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้กลุ่มโอเปคต้องปรับเปลี่ยนการผลิตน้ำมันให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น"
"สภาคองเกรสสหรัฐไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในสหรัฐ ถึงแม้ว่าสภาได้ผ่านความเห็นชอบในมาตรการแก้ไขวิกฤติการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์แล้วก็ตาม และขณะนี้กลุ่มโอเปคจะเริ่มประเมินสถานการณ์ในตลาดยุโรป ซึ่งหากการใช้น้ำมันยังลดลงอีก ก็มีแนวโน้มที่กลุ่มโอเปคจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการผลิตน้ำมัน หลังตัดสินใจลดการผลิตวันละ 520,000 บาร์เรลในการประชุมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา" นายชีริโบกากล่าว
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันซึ่งกระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันพุธตามเวลาประเทศไทย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า สต็อกน้ำมันดิบอาจเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นอาจลดลง 0.7 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินอาจเพิ่มขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันอาจเพิ่มขึ้น 6.0%
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--