นายกส.ยางพาราไทย เชื่อราคายางดีดกลับสู่วงจรปกติหลังร่วงแรงจาก Panic sell

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 13, 2008 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          วงการคาดราคายางดีดกลับหลังความตื่นตระหนกในตลาดการเงินคลี่คลาย หลังราคายางร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบปีนับตั้งแต่ปลายปี 49 โดยยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) ใน AFET จากที่เคยพุ่งสูงไปทดสอบ 104 บาท/กก. เมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย.51 ล่าสุดปรับตัวลดลงมาจนกระทั่งหลุดระดับ 70 บาท/กก. มาอยู่ 67.50 บาท/กก.(ปิดตลาด AFET เมื่อวันศุกร์ที่ 10 ต.ค.51) จากที่เคยลงไปทดสอบ 57 บาท/กก.ช่วงปลายปี 49 
นายหลักชัย กิตติพล" นายกสมาคมยางพาราไทย เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า สถานการณ์ยางที่ราคาไหลลงมากในขณะนี้เป็นผลจากแรง Panic Sell ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินทั่วโลก แต่เชื่อว่าเมื่อไหร่ที่ทุกอย่างคลี่คลาย ตลาดยางและราคายางก็น่าจะกลับคืนสู่วงจรปกติ
"ผมว่าสถานการณ์ตอนนี้มันไม่ได้เกิดจากตลาดยางอย่างแท้จริง แต่เกี่ยวกับตลาดการเงินของโลกที่เป็นปัญหายืดเยื้อมา เป็นตลาดยางและสินค้า Commodity เป็นตลาดของการเก็งกำไร ต้องรอให้ทุกอย่างนิ่งกว่านี้ เชื่อว่าถ้านิ่งแล้วทุกอย่างก็จะดีขึ้น ช่วงนี้เป็นเรื่องของ Panic ถ้าสถานการณ์นิ่งกว่านี้ถึงจะประเมินสถานการณ์ที่แท้จริงของตลาดยางได้ชัดเจนขึ้น"นายหลักชัย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
*แต่หากภาวะเศรษฐกิจโลกยังเป็นแบบนี้ต่อไป ราคายางมีโอกาสปรับตัวลดลงไปเรื่อยๆ หรือไม่
"ก็ไม่ถึงขนาดนั้น ก็ต้องดูว่าจริงๆ แล้วตอนนี้เป็นราคาที่โรงงานยางถ้าไม่ตกใจเค้าก็มีกำไรเยอะ เพราะล้อยางต่างๆ ก็ Quote ราคาที่แพงกว่านี้อยู่แล้ว ถ้าโรงงานเหล่านี้ขายของออกไปได้ก็น่าจะได้กำไร แต่ตอนนี้ทุกคนทั่วโลก Panic คนที่อยากเปลี่ยนล้อยางก็อาจจะชะลอการเปลี่ยน คนจะซื้อล้อยางไปขายก็ชะลอกัน อะไรต่อมิอะไรชะลอเป็นทอดๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับความตกใจ"
*ประเมินสถานการณ์ตลาดยางพาราหลังจากนี้ไว้อย่างไร
"อย่างที่บอกว่าสถานการณ์แบบนี้ต้องให้เวลานิดนึง รอดูว่าตลาดการเงินจะนิ่งยังไง แต่ว่ายังไงก็แล้วแต่การใช้ยางก็ยังต้องใช้อยู่ การผลิตล้อยางก็ยังต้องผลิตต่อไป ถึงแม้ราคาจะน่าตกใจมากแค่ไหนแต่ว่าความต้องการใช้ก็ยังต้องมี
ปัจจุบันความต้องการใช้ยางปีนี้อยู่ที่ 9.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 50 ประมาณ 2% ตามดีมานด์ของหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น ล้อยาง ถุงมือยาง ขณะที่ซัพพลายอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านไร่ แต่พื้นที่ที่กรีดได้อยู่ที่ประมาณ 11 ล้านไร่ ใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากพื้นที่ปลูกยางของไทยเริ่มมีจำกัด ทำให้การปลูกชะลอลง อย่างมากคือทำได้ใกล้เคียงปีก่อน"
*ปัจจัยพื้นฐานของตลาดยางพาราคาในขณะนี้เป็นอย่างไร
"ยอมรับว่าปัจจัยพื้นฐานของตลาดยางเองก็มีปัญหาบ้างแต่ไม่ได้หนักหนาเท่ากับปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจโลก ราคามันก็ปรับตัวลดลง ตอนนี้ยังเป็นเรื่องของความตกใจด้านตลาดการเงิน เช่น กองทุนที่เคยซื้อตอนนี้ก็เทขายออกมา ก็ต้องดูว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร เพราะถ้าพูดถึงด้านการผลิตก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมาย ขณะที่ความต้องการก็ไม่เพิ่มขึ้น เพราะสภาพตลาดเศรษฐกิจเป็นแบบนี้คนก็ไม่ซื้อและคอยดู และถ้าทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติ กลไกราคายางก็จะกลับมาเป็นปกติตามหลักดีมานด์ซัพพลาย"
*สมาคมยางพารา และผู้เกี่ยวข้องมีการเตรียมการรับมืออย่างไรเพื่อพยุงราคาไม่ให้ตกต่ำไปกว่านี้
"ในสัปดาห์นี้ คณะกรรมการยางมาเลเซีย(MRB) และองค์กรการประชุมยางนานาชาติ(IRCO) จะจัดนิทรรศการและการประชุมยางนานาชาติ(IRC 2008) ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม 2551 ภายในงานจะมีการนำเสนอแง่มุมที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมยางทั้งในส่วนของลักษณะทางกายภาพและลักษณะทางวิศวกรรมของยาง การจำลองสถานการณ์บนคอมพิวเตอร์ เทคนิคและขั้นตอนการผลิตยางที่ทันสมัย ความสัมพันธ์ทางระบบนิเวศวิทยาระหว่างอุตสาหกรรมยางและสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมด้านนาโนเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยาง ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือเกี่ยวกับสถานกาณณ์ราคายางโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วย"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ