ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบปิดร่วง $4.09 หลังโอเปคลดคาดการณ์ความต้องการพลังงาน

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 16, 2008 06:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 4 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (15 ต.ค.) ซึ่งเป็นการร่วงลงต่ำกว่าระดับ 75 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ปรับลดคาดการณ์ความต้องการพลังงานในปีพ.ศ.2552 ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 4.09 ดอลลาร์ หรือ 5.2% ปิดที่ 74.54 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.ปีพ.ศ.2550

ขณะที่สัญญานำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 3.73 ดอลลาร์ ปิดที่ 70.80 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออลย์ส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 7.12 เซนต์ ปิดที่ 2.217 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 10.26 เซนต์ ปิดที่ 1.7822 ดอลลาร์/แกลลอน

จิม ริทเทอร์บุช ประธานบริษัท Ritterbusch and Associates ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานในรัฐอิลลินอยส์ กล่าวว่า นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบอย่างหนักหน่วงหลังจากโอเปคคาดการณ์ว่า ในปีหน้านั้นความต้องการพลังงานของกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะมากกว่าปีนี้เพียง 400,000 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าความต้องการพลังงานในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาจะเพิ่มขึ้นราว 1.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากจีน ประเทศตะวันออกกลาง และอินเดีย

การประกาศลดคาดการณ์ของโอเปคมีขึ้นก่อนที่โอเปคจะจัดประชุมนัดพิเศษในวันที่ 18 พ.ย.นี้ เพื่อหารือกันเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ด้านการเงินทั่วโลกที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความเคลื่อนไหวของโอเปคครั้งนี้ทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า โอปคจะถือโอกาสลดเพดานการผลิต เพื่อสกัดกั้นการร่วงลงของราคาน้ำมัน

ลอว์เรนซ์ อีเกิลส์ นักวิเคราะห์จากจีพีมอร์แกน แสดงความเว่า "ตลาดน้ำมันเคลื่อนไหวไปตามปัจจัยที่หลากหลายในขณะนี้ ซึ่งรวมถึง ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และภาวะสินเชื่อตึงตัว การที่กลุ่มโอเปคปรับลดคาดการณ์ความต้องการพลังงานครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ "ระยะถดถอย" แล้ว"

นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ดิ่งลงกว่า 700 จุด หลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอและบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจถดถอยเร็วกว่าที่ประเมินไว้ในเบื้องต้น รวมถึงยอดค้าปลีกเดือนก.ย.ที่ร่วงลง 1.2% แตะระดับ 3.755 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการร่วงลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.ปีพ.ศ.2548 และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยับลงเพียง 0.7%

ขณะที่รายงาน Beige Book ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคส่วนใหญ่ของสหรัฐยังคงชะลอตัวลงเนื่องจากปัญหาในตลาดการเงินและปัญหาด้านสินเชื่อที่ทวีความรุนแรงจนกลายวิกฤตการณ์ที่ยากแก่การแก้ไข

ส่วนอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเทขายอย่างหนักหน่วงในตลาดน้ำมันนิวยอร์กคือการที่นักลงทุนไม่มั่นใจในมาตรการกู้วิกฤตการณ์การเงินของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งรวมถึงแผนฟื้นฟูระบบการเงินเบื้องต้นที่จะใช้เงินงบประมาณมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์เข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธ์ของ 9 ธนาคารยักษ์ใหญ่



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ