ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงต่ำกว่าระดับ 70 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ (16 ต.ค.) หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่าสต็อกน้ำมันดิบและเบนซินเพิ่มขึ้นเกินความคาดหมาย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนมองว่าวิกฤตการณ์สินเชื่อที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงกำลังทำให้ความต้องการพลังงานลดลงด้วย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 4.69 ดอลลาร์ หรือ 6.29% ปิดที่ 69.85 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 68.57-74.50 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 10.32 เซนต์ ปิดที่ 2.0873 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 16.02 เซนต์ หรือ 8.99% ปิดที่ 1.6220 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 4.48 ดอลลาร์ หรือ 6.3% ปิดที่ 66.32 ดอลลาร์/บาร์เรล
ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากบริษัทเอลารอน เทรดดิ้ง กล่าวว่า "นักลงทุนกระหน่ำขายสัญญาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องแม้กลุ่มโอเปคปรับลดคาดการณ์ความต้องการพลังงาน และเมื่อคืนนี้นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบอีกระลอกเมื่อกระทรวงพลังงานสหรัฐระบุว่าสต็อกน้ำมันดิบและเบนซินเพิ่มขึ้นเกินความคาดหมาย"
กระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 10 ต.ค.พุ่งขึ้น 5.6 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 308.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ธอมสัน ไฟแนนเชียลคาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 1.9 ล้านบาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินทะยานขึ้น 7 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 193.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะดีดตัวขึ้นเพียง 600,000 บาร์เรล แต่สต็อกน้ำมันกลั่นที่รวมถึงน้ำมันฮีทติ้งออยล์และดีเซล ลดลง 2.9 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 122.1 ล้านบาร์เรล ตรงข้ามกับที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 600,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 1.9% แตะระดับ 82.2% ต่ำกว่าที่คาดว่าจะพุ่งขึ้น 2.9%
โอเปคคาดการณ์ว่า ในปีหน้านั้นความต้องการพลังงานของกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะมากกว่าปีนี้เพียง 400,000 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าความต้องการพลังงานในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาจะเพิ่มขึ้นราว 1.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากจีน ประเทศตะวันออกกลาง และอินเดีย
การประกาศลดคาดการณ์ของโอเปคมีขึ้นก่อนที่โอเปคจะจัดประชุมนัดพิเศษในวันที่ 18 พ.ย.นี้ เพื่อหารือกันเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ด้านการเงินทั่วโลกที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความเคลื่อนไหวของโอเปคครั้งนี้ทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า โอปคจะถือโอกาสลดเพดานการผลิต เพื่อสกัดกั้นการร่วงลงของราคาน้ำมัน