ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: กระแสคาดโอเปคลดการผลิต หนุนราคาน้ำมันพุ่งปิดที่ $67.84

ข่าวต่างประเทศ Friday October 24, 2008 06:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 67 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ (23 ต.ค.) เนื่องจากกระแสคาดการณ์ที่ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) จะลดปริมาณการผลิตในการประชุมฉุกเฉินซึ่งจะมีขึ้นในวันศุกร์นี้ โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดกั้นการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบ

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.พุ่งขึ้น 1.09 ดอลลาร์ ปิดที่ 67.84 ดอลลาร์/บาร์เรล

ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนธ.ค.ดีดขึ้น 1.40 ดอลลาร์ ปิดที่ 65.92 ดอลลาร์/บาร์เรล

รัฐมนตรีกลุ่มโอเปคได้เดินทางถึงกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลียแล้ว เพื่อเข้าประชุมฉุกเฉินในวันศุกร์ที่ 24 ต.ค. ซึ่งการที่โอเปคประกาศเลื่อนการประชุมฉุกเฉินให้เร็วขึ้นเป็นวันที่ 24 ต.ค.จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 18 พ.ย. ทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า โอเปคจะใช้การประชุมฉุกเฉินครั้งนี้เป็นโอกาสในการลดเพดานการผลิตลงประมาณ 1 ล้านบาร์เรล หรือมากกว่า เนื่องจากรัฐมนตรีกลุ่มโอเปคมีท่าทีวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก

นายโกลัม ฮอสเซน โนซารี รัฐมนตรีพลังงานอิหร่าน แสดงความคาดหวังว่า โอเปคจะลดกำลังการผลิตลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา โดยอิหร่านเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มโอเปค รองจากซาอุดีอาระเบีย

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า ซาอุดิอาระเบียและพันธมิตรในกลุ่มโอเปคจากภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียจะพยายามคัดค้านการลดกำลังผลิตในปริมาณที่สูงมาก เนื่องจากกังวลกับระดับความต้องการน้ำมันในภาวะที่โลกเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน ทั้งนี้ คาดว่า ซาอุดิอาระเบียและประเทศสมาชิกโอเปคในอ่าวเปอร์เซียจะสนับสนุนให้ลดกำลังการผลิตได้ไม่เกิน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ด้านนาย ชาคิบ เคลิล ประธานโอเปค กล่าวว่า การตัดสินใจลดปริมาณการผลิตในช่วงเวลาที่วิกฤตเช่นนี้ โอเปคจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต พร้อมกล่าวว่า การประชุมฉุกเฉินในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจัดขึ้นในช่วงเวลาที่หลายประเทศกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงิน

กระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 17 ต.ค.พุ่งขึ้น 3.2 ล้านบาร์เรล หรือ 1% แตะที่ระดับ 311.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าระดับเฉลี่ยของปีที่แล้วอยู่ประมาณ 0.7% และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 2.3 ล้านบาร์เรล

ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 2.7 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 196.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.1 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล แตะที่ 124.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 100,000 บาร์เรล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ