ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3 ดอลลาร์ แตะที่ระดับต่ำกว่า 65 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ (24 ต.ค.) แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) จะตัดสินใจลดปริมาณการผลิตลงถึง 1.5 ล้านบาร์เรลในการประชุมฉุกเฉินในวันศุกร์ก็ตาม
ที่ประชุมรัฐมนตรีน้ำมันกลุ่มโอเปคได้จัดประชุมฉุกเฉินที่กรุงเวียนนาเพื่อหารือเรื่องการลดโควต้าการผลิต ด้วยความหวังว่าจะช่วยสกัดกั้นการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ได้ แต่ดูเหมือนว่าความพยายามดังกล่าวจะไม่เป็นผล เมื่อสัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.ปรับตัวลง 3.69 ดอลลาร์ ปิดที่ 64.15 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากที่ในการซื้อขายระหว่างวัน ราคาได้ขยับลงไปแตะที่ระดับ 62.65 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2550
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ลดลง 8.32 เซนต์ ปิดที่ 1.95 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินลดลง 10 เซนต์ ปิดที่ 1.47 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนธ.ค.ลดลง 3.87 ดอลลาร์ ปิดที่ 62.05 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมีมติเห็นชอบลดการผลิตน้ำมันลง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โควต้าการผลิตใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งโอเปคหมายมั่นว่าการลดกำลังการผลิตครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปีนี้จะสามารถป้องกันไม่ให้ราคาน้ำมันขยับลงไปมากกว่านี้ได้
โดยขณะนี้ ราคาน้ำมันดิบร่วงลง 56% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 147.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันที่ 11 ก.ค. และลดลงมากกว่า 41 ดอลลาร์/บาร์เรลจากราคาในเดือนก่อน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยกลับมีอิทธิพลเหนือตลาดมากกว่า โดยรายงานตัวเลขจ้างงานที่กระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยในเดือนนี้ บ่งชี้ว่ากำลังจะมีคนตกงานมากขึ้นจากปีก่อน 2.2 ล้านคน เป็น 9.5 ล้านคน ขณะที่ สัญญาณความต้องการในยุโรปและเอเชียที่ชะลอตัวลงอย่างมากยิ่งตอกย้ำความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
สตีเฟน ชอร์ก เทรดเดอร์และนักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่ตลาดน้ำมันไม่ขานรับมติลดการผลิตของโอเปคเป็นการยืนยันว่า อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกในเวลานี้อ่อนแอมากจริงๆ ซึ่งรายงานเปิดเผยโดยกระทรวงคมนาคมสหรัฐวานนี้ ชี้ว่าระยะทางการขับขี่ยวดยานของชาวอเมริกันลดลงมากสุดในรอบ 66 ปี ก็ช่วยสนับสนุนความเข้าใจดังกล่าว
ทั้งนี้ หลังจากที่ในเดือนก.ค. ราคาน้ำมันเบนซีนพุ่งแตะ 4.11 ดอลลาร์/แกลลอน (1.08 ดอลลาร์/ลิตร) ในเดือนต่อมา ชาวอเมริกันจึงได้ลดการขับขี่ลงคิดเป็น 5.6% หรือนับเป็นระยะทางที่ลดลง 1.5 พันล้านไมล์ (2.4 พันล้านกิโลเมตร) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนส.ค.ปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดภายในเดือนเดียวนับตั้งแต่ที่ได้มีการเก็บข้อมูลเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2485 โดยชาวอเมริกันหันไปใช้วิธีคาร์พูลและใช้ระบบขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น
รายงานประจำสัปดาห์ล่าสุดโดยกระทรวงพลังงานสหรัฐยังได้แสดงให้เห็นว่าความต้องการน้ำมันร่วงลงต่อเนื่อง โดยดีมานด์ในสหรัฐลดลงเกือบ 10% ในช่วงสี่สัปดาห์ล่าสุด เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งส่งผลสืบเนื่องให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซีนเฉลี่ยตามปั๊มลดลงต่ำกว่าระดับปี 2550 เป็นครั้งแรกในปีนี้
นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องดอลลาร์แข็งค่าก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบร่วงลงเมื่อคืนนี้เช่นกัน ตามธรรมชาติของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดโภคภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงน้ำมันดิบ เมื่อดอลลาร์อ่อนค่า และขายเมื่อดอลลาร์ดีดตัวขึ้น และหมายความว่า ประเทศที่มีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจะต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงมากขึ้น ซึ่งนั่นบีบให้ประเทศเหล่านี้ต้องลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลง