ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้น 1.85 ดอลลาร์เมื่อคืนที่ผ่านมา (31 ต.ค.) หลังจากราคาน้ำมันดิบในเดือนตุลาคมทำสถิติดำดิ่งลงรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ซบเซา ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งความต้องการใช้พลังงาน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.พุ่งขึ้น 1.85 ดอลลาร์ ปิดที่ 67.81 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากร่วงลงต่ำสุดสู่ระดับ 63.12 ดอลลาร์/บาร์เรล
น้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE ในกรุงลอนดอนพุ่งขึ้น 1.61 ดอลลาร์ ไปแตะที่ 65.32 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาน้ำมันมันในเดือนตุลาคมรูดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับระดับ 100.64 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อสิ้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมาซึ่งจนถึงขณะนี้ราคาน้ำมันดิ่งลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขายสัญญาน้ำมันในปี 2526
จิม ริทเทอร์บุช นักวิเคราะห์จาก Ritterbusch and Associates กล่าวว่า "ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล จากระดับ 100 ดอลลาร์ในช่วงต้นเดือนมาอยู่ที่ราว 65 ดอลลาร์ในปลายเดือนนี้ ซึ่งภาวะเช่นนี้สะท้อนถึงอุปสงค์ที่อ่อนแออย่างเห็นได้ชัด"
ด้านราคาน้ำมันเบนซินที่สถานีบริการน้ำมันปรับตัวลดลงอีก 4.3 เซนต์เมื่อคืนนี้สู่อัตราเฉลี่ยที่ 2.504 ดอลลาร์ ซึ่งร่วงลงครึ่งหนึ่งจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ระดับ 4.114 ดอลลาร์/แกลลอน
อดัม ซีมินสกี้ นักวิเคราะห์จาก Deutsche Bank Global Markets คาดว่า"แม้ราคาพลังงานจะถูกลง แต่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลกจะยังเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความต้องการน้ำมันในปีหน้า ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยเคลื่อนไหวที่ระดับ 50 ดอลลาร์/บาร์เรลในช่วงเวลาดังกล่าว"
"เราเชื่อว่าอุปสงค์น้ำมันจะยังไม่กระเตื้องขึ้นในปีหน้า แม้ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงไปมากแล้วก็ตาม" ซีมินสกี้กล่าว
ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ได้คาดการณ์เมื่อต้นปีนี้ว่าความต้องการน้ำมันจะเพิ่มขึ้นราว 800,000 บาร์เรล/วันในปีหน้า เนื่องจีนและอินเดียต้องการใช้น้ำมันเพื่อใช้ขับคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ
ทั้งนี้ การที่โอเปคลงมติปรับลดเพดานการผลิตน้ำมันลง 1.5 ล้านบาร์เรล/วันในที่ประชุมฉุกเฉินเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันแต่อย่างใดและราคาน้ำมันยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง