ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: ยอดค้าปลีกสหรัฐทรุด ฉุดราคาน้ำมันดิบร่วง $1.20 แตะ $57.04

ข่าวต่างประเทศ Saturday November 15, 2008 07:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลง 1.20 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (14 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยหลังจากสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกที่ร่วงลงหนักสุดเป็นประวัติการณ์ โดยนักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องโดยไม่ให้น้ำหนักกับข่าวที่ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ส่งสัญญาณจะลดการผลิตลงอีก

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.ร่วงลง 1.20 ดอลลาร์ ปิดที่ 57.04 ดอลลาร์/บาร์เรล

ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนธ.ค.ลดลง 4 เซนต์ ปิดที่ 1.8351 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนธ.ค.ลดลง 6 เซนต์ ปิดที่ 1.24 ดอลลาร์/แกลลอน

ทอม โคลซา นักวิเคราะห์จาก Oil Price Information Service กล่าวว่า "นักลงทุนวิตกกังวลเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจและเทขายสัญญาน้ำมันดิบหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนต.ค.ร่วงลง 2.8% ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลงในช่วงที่วิกฤตการณ์การเงินลุกลามไปทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ"

"นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบโดยไม่สนใจข่าวที่ว่ากลุ่มโอเปคเตรียมจัดประชุมฉุกเฉินวันที่ 29 พ.ย.ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เพื่อพิจารณาเรื่องการลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงอีก หลังจากที่โอเปคมีมติลดการผลิตน้ำมันลง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมฉุกเฉินที่กรุงเวียนนาเมื่อวันศุกร์ที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ NYMEX จะร่วงลงจนถึงระดับ 30 ดอลลาร์/บาร์เรล และเชื่อว่ากลุ่มโอเปคจะไม่สามารถสกัดกั้นการร่วงลงของราคาน้ำมันได้ โดยทิม อีแวนส์ นักวิเคราะห์จาก Citi Futures Perspective กล่าวว่า "นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบน้อยมากเพราะความวิตกกังวลเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย บางคนอาจบอกว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่ราคาน้ำมันจะถอยลงไปอยู่ที่ 30 ดอลลาร์ แต่เราเชื่อว่าราคาจะร่วงลงไปจนถึงระดับนั้น"

ฟิล ไฟน์ นักวิเคราะห์จากบริษัท เอลารอน เทรดดิ้ง กล่าวว่า นักลงทุนกระหน่ำขายสัญญาน้ำมันดิบอย่างหนัก เพราะมีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงกำลังฉุดรั้งความต้องการพลังงานให้ลดลงด้วย โดยเฉพาะเมื่อ EIA คาดการณ์ว่า ความต้องการพลังงานในสหรัฐอาจร่วงลง 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 5.4% ในปีนี้ และอัตราการว่างงานเดือนต.ค.พุ่งขึ้น 0.4% แตะระดับ 6.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีครึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ