ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX:ตัวเลขจ้างงานทรุด ฉุดราคาน้ำมันดิบร่วง $2.86 ปิดที่ $40.81

ข่าวต่างประเทศ Saturday December 6, 2008 07:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีเมื่อคืนนี้ (5 ธ.ค.) หลังทางการสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่ร่วงลงหนักที่สุดในรอบ 34 ปี จนส่งผลให้ราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 2.86 ดอลลาร์ ปิดที่ 40.81 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2547

ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 6.83 เซนต์ ปิดที่ 90 เซนต์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 8.26 เซนต์ แตะระดับ 1.4265 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 2.42 ดอลลาร์ ปิดที่ 39.86 ดอลลาร์/บาร์เรล

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าตัวเลขจ้างงานเดือนพ.ย.ร่วงหนักสุดในรอบ 34 ปีที่ระดับ 533,000 ตำแหน่ง และร่วงลงแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 320,000 ตำแหน่ง ขณะเดียวกันอัตราว่างงานในเดือนพ.ย.พุ่งขึ้นแตะที่ 6.7% จากระดับ 6.5% เมื่อเดือนต.ค.ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะถดถอยในระดับที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ

เจฟฟ์ ซันสโตรม โฆษกของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งสหรัฐ หรือ AAA กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายและย่ำแย่เข้าขั้นวิกฤต

ขณะที่ทอม โคลซา นักวิเคราะห์จาก Oil Price Information Service กล่าวว่า ราคาค้าปลีกน้ำมันในเขตมิดเวสต์ของสหรัฐ อาทิ รัฐโอไฮโอ, อินเดียน่า, อิลลินอยส์ และมิสซูรีอาจร่วงลงไปอยู่ที่ 1.25 ดอลลาร์/แกลลอนในเร็วๆนี้ และตัวเลขจ้างงานที่ทางการสหรัฐรายงานออกมาครั้งล่าสุดยังเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินจะปรับตัวลดลงอีกในต้นปีหน้าท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายจากปัจจัยหลายๆด้าน เช่นประเด็นเรื่องค่าจ้างแรงงานที่ไม่กระเตื้องขึ้น รวมถึงราคาบ้านที่ตกต่ำ ตลอดจนอัตราการยึดบ้านหลุดจำนองที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐได้เปิดเผยว่า เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่เดือนธ.ค. 2550 ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมาสหรัฐต้องสูญเสียแรงงานในระบบเศรษฐกิจแล้วถึง 1.9 ล้านคน จากวิกฤตการเงินที่ล่มสลายจนส่งผลกระทบต่อวัฏจักรการออกเงินกู้ ขณะที่ค่ายรถ"บิ๊กทรี"ของสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะล้มละลายหากรัฐบาลไม่ยอมอนุมัติเงินช่วยเหลือก้อนใหญ่ให้ตามที่ทั้งสามบริษัทร้องขอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ