ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 10% เมื่อคืนนี้ (11 ธ.ค.) เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงได้กระตุ้นนักลงทุนให้ทุ่มซื้อสัญญาน้ำมันดิบอย่างคับคั่ง นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังได้รับแรงหนุนจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ส่งสัญญาณเรื่องการลดปริมาณการผลิต
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนม.ค.พุ่งขึ้น 4.46 ดอลลาร์ หรือ 10.25% ปิดที่ 47.98 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในระหว่างวันที่ 49 ดอลลาร์
สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนม.ค.พุ่งขึ้น 10.39 เซนต์ หรือ 7.41% ปิดที่ 1.5066 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนม.ค.พุ่งขึ้น 10.99 เซนต์ หรือ 11.35% ปิดที่ 1.0786 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนม.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนพุ่งขึ้น 4.99 ดอลลาร์ หรือ 11.77% ปิดที่ 47.39 ดอลลาร์/บาร์เรล
ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากบริษัท เอลารอน เทรดดิ้ง กล่าวว่า สกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้าซื้อสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึง น้ำมันดิบ อย่างคับคั่ง เพราะดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงทำให้สัญญาสินค้าโภคภัณฑ์มีราคาถูกลง ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบทะยานขึ้นกว่า 10% แม้สำนักงานพลังงานสากลปรับลดคาดการณ์ความต้องการพลังงานเมื่อวานนี้ก็ตาม
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าปริมาณการใช้น้ำมันทั่วโลกจะหดตัวลง 200,000 บาร์เรลต่อวันในปีนี้ หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.2% โดยคาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) จะร่วงลงไป 3.3% ส่วนการใช้น้ำมันในปีหน้าคาดว่าจะทรงตัว หากว่าเศรษฐกิจยังคงถดถอยไปมากกว่านี้
วิคเตอร์ ชูม นักวิเคราะห์จากบริษัท เพอร์วิน แอนด์ เกิร์ซ กล่าวว่า นักลงทุนยังคงจับตาการประชุมโอเปคในวันที่ 17 ธ.ค.ที่ประเทศอัลจีเรีย หลังจากนายชากิบ คาลิล ประธานกลุ่มโอเปคกล่าวให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า โอเปคอาจลดเพดานการผลิตน้ำมันลงในปริมาณที่มากพอสมควร เพื่อสกัดกั้นราคาน้ำมันดิบไม่ให้ร่วงลงมากไปกว่านี้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจมีขึ้นในการประชุมโอเปควันที่ 17 ธ.ค.นี้
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากข่าวที่ว่ารัสเซียวางแผนที่จะร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปค เพื่อลดการผลิตน้ำมัน พร้อมกับส่งสัญญาณว่ารัสเซียพร้อมที่จะให้ความร่วมมือด้านพลังงานกับกลุ่มโอเปค
นักลงทุนยังคงจับตาดูว่ามาตรการช่วยเหลือค่ายรถยนต์กลุ่มบิ๊กทรี ซึ่งได้แก่ เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม),ไครสเลอร์ และฟอร์ด มอเตอร์ จะผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาสหรัฐหรือไม่ หลังจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอนุมัติมาตรการช่วยเหลือค่ายรถยนต์กลุ่มบิ๊กทรีของสหรัฐเป็นวงเงิน 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อวานนี้ ด้วยการลงคะแนนเสียง 237-170