ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (18 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบอย่างหนักหลังจากมีข่าวว่าภาคเอกชนลดพนักงานจำนวนมาก ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าจำนวนคนว่างานที่เพิ่มขึ้นจะฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ถดถอยรุนแรงและยาวนาน และจะฉุดความต้องการพลังงานให้ทรุดฮวบลงด้วย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนม.ค.ดิ่งลง 3.84 ดอลลาร์ หรือ 9.59% ปิดที่ 36.22 ดอลลาร์/บาร์เรลซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 35.98-40.90 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 6.96 เซนต์ แตะที่ 1.3729 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 4.26 เซนต์ ปิดที่ 96.29 เซนต์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.พ.ดิ่งลง 2.17 ดอลลาร์ ปิดที่ 43.36 ดอลลาร์/บาร์เรล
ปีเตอร์ บูเทล นักวิเคราะห์จากบริษัท คาเมรอน ฮาโนเวอร์ กล่าวว่า "ตลาดน้ำมันนิวยอร์กแทบจะไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา เนื่องจากนักลงทุนกระหน่ำขายสัญญานับตั้งแต่ช่วงเปิดตลาดหลังจากมีข่าวว่าบริษัทเอกชนพากันปลดพนักงานไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่วิกฤติแล้ว นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายสัญญาน้ำมันดิบโดยไม่สนใจข่าวการลดกำลังการผลิตของโอเปค"
กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) มีมติลดกำลังการผลิตลง 2.2 ล้านบาร์เรล/วัน หรือลดลง 9% ซึ่งเป็นการลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ปีพ.ศ.2552 ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันของ 11 ประเทศสมาชิกโอเปคลดลงเหลือเพียง 24.845 ล้านบาร์เรล/วัน และถือเป็นการลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการกำหนดโควตาผลิตน้ำมันครั้งแรกในปีพ.ศ.2525
นอกจากนี้ รัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่นอกกลุ่มโอเปคยังให้คำมั่นสัญญาในวันเดียวกันว่า จะลดการส่งออกน้ำมันลงด้วย ซึ่งถือเป็นการดำเนินการครั้งแรกของรัสเซีย ขณะที่นาย อนาโตลี ยานอฟสกี รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานของรัสเซียเปิดเผยว่า รัสเซียจะยังไม่หารือกับกลุ่มโอเปคในเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกของโอเปค ซึ่งถือเป็นสัญญาณว่ารัสเซียไม่ได้มองว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกโอเปคเป็นเรื่องเร่งด่วนตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์
บริษัทเอกชนในสหรัฐและทั่วโลกพากันปลดพนักงานแบบรายวัน หลังจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง รวมถึงบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล คอร์ป, เอ็ทนา อิงค์, นิวเวลล์ รับเบอร์เมด อิงค์, บริสทอล-เมเยอร์ สควิบบ์, อินเตอร์เนชันแนล เปเปอร์ และแบงค์ ออฟ อเมริกา
นอกจากนี้มีรายงานว่า นิสสัน มอเตอร์ เตรียมลดการผลิตที่โรงงานในประเทศญี่ปุ่นลงอีก 78,000 คัน เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อรับมือกับยอดขายรถยนต์ทั่วโลกที่ยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง, ดอยช์แบงก์ เอจี ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี ประกาศปลดพนักงานอย่างน้อย 60 ตำแหน่งในญี่ปุ่น, บีเอ็นพี พาริบาส เอสเอ ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส เตรียมปลดพนักงานราว 800 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 5% ของการจ้างงานในแผนกหลักทรัพย์ หลังจากที่ธนาคารขาดทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนต.ค.
ส่วนพอสโค บริษัทผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 3 ของเอเชีย เตรียมลดกำลังการผลิตเหล็กดิบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การดำเนินงานกว่า 40 ปีของบริษัท หลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลให้ความต้องการเหล็กลดลง