สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลง 93 เซนต์เมื่อคืนนี้ (23 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกระหน่ำขายสัญญาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องหลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รวมถึงข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์และตัวเลขจีดีพีที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลงอย่างรุนแรง โดยนักลงทุนกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้ความต้องการพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆลดน้อยลงด้วย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ.ลดลง 93 เซนต์ ปิดที่ 38.98 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดของวันที่ 37.79 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนก.พ.ลดลงแตะระดับ 86.6 เซนต์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนก.พ.ลดลง 1.45 เซนต์ ปิดที่ 1.327 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.พ. ดิ่งลง 1.09 ดอลลาร์ ปิดที่ 40.36 ดอลลาร์/บาร์เรล
ปีเตอร์ บูเทล นักวิเคราะห์จากบริษัท คาเมรอน ฮาโนเวอร์ กล่าวว่า "ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันนิวยอร์กซบเซาตั้งแต่ช่วงเช้า โดยปัจจัยหลักๆมาจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสหรัฐและเทรดเดอร์ส่วนใหญ่เริ่มหยุดงานเพื่อฉลองเทศกาลคริสต์มาส สถานการณ์ดังกล่าวทำให้นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบเดือนก.พ.สามารถดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดของวันได้ เนื่องจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าโอเปคจะลดการผลิตน้ำมันลงอีกในการประชุมครั้งหน้า"
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขั้นสุดท้ายประจำไตรมาส 3 หดตัวลง 0.5% มากกว่าที่คาดว่าจะหดตัวเพียง 0.3% และเป็นสถิติที่หดตัวลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ของปีพ.ศ.2544 ซึ่งเป็นผลมาจากผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอย
กระทรวงพาณิชย์ยังระบุด้วยว่า ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลง 3.7% ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรุนแรงที่สุดในรอบ 28 ปี เมื่อเทียบกับที่คาดว่าจะลดลง 3.1% ขณะที่ภาคครัวเรือนลดการใช้จ่ายลง 17.6% ซึ่งเป็นการร่วงลงติดต่อกันยาวนานถึง 11 ไตรมาส
นอกจากนี้ สมาคมนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านมือสองประจำเดือนพ.ย.ร่วงลง 8.6% เหลือเพียง 4.49 ล้านยูนิตต่อปี จากเดือนต.ค.ที่ระดับ 4.91 ล้านยูนิต ขณะที่ยอดขายบ้านใหม่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 18 ปี และราคาบ้านใหม่ร่วงลงหนักสุดในรอบ 8 เดือน
อาลี อัล-ไนมี รมว.พลังงานซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นสมาชิกที่มีอิทธิพลที่สุดในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) เปิดเผยว่า โอเปคซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันในอัตรา 40% ของผลผลิตน้ำมันทั่วโลก ต้องการสร้างเสถียรภาพในตลาดน้ำมันโลกหลังจากราคาน้ำมันทรุดตัวลงกว่า 100 ดอลลาร์จากระดับสูงสุดของเดือนก.ค. ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่าโอเปคจะลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีกในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 15 มี.ค.ปีหน้า ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
การส่งสัญญาณครั้งล่าสุดมีขึ้นหลังจากรัฐมนตรีพลังงานกลุ่มโอเปคมีมติลดกำลังการผลิตลง 2.2 ล้านบาร์เรล/วัน หรือลดลง 9% ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ปีพ.ศ.2552 ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันของ 11 ประเทศสมาชิกโอเปคลดลงเหลือเพียง 24.845 ล้านบาร์เรล/วัน
นักลงทุนจับตาดูสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันพุธนี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะเพิ่มขึ้น 400,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล