ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบปิดพุ่ง $5.57 เหตุนลท.เริ่มหวั่นอุปทานเชื้อเพลิงตึงตัว

ข่าวต่างประเทศ Thursday January 1, 2009 07:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดทะยานขึ้น 14% เมื่อคืนนี้ (31 ธ.ค.) ซึ่งเป็นวันซื้อขายวันสุดท้ายของปี 2551 เนื่องจากความกังวลว่าการชะลอกิจกรรมการกลั่นในสหรัฐอาจทำให้อุปทานเชื้อเพลิงตึงตัวได้

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ.พุ่งขึ้น 5.57 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 44.60 ดอลลาร์/บาร์เรล

ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนก.พ.ปิดบวก 12.29 เซนต์ แตะที่ 1.01 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนก.พ.ปิดบวก 11.77 เซนต์ แตะที่ 1.4057 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.พ.พุ่งขึ้น 5.44 ดอลลาร์ ปิดที่ 45.59 ดอลลาร์/บาร์เรล

รัฐบาลสหรัฐรายงานว่า สำรองน้ำมันดิบของประเทศปรับตัวขึ้นอีกในสัปดาห์ที่ผ่านมา สวนทางคาดการณ์ว่าจะดิ่งลง ขณะที่สำรองน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด ขณะที่ความต้องการน้ำมันเบนซินและผลิตภัณฑ์กลั่นอื่นๆ ซึ่งรวมถึงน้ำมันฮีทติ้งออยล์ ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ ข้อมูลรายสัปดาห์ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมการกลั่นในสหรัฐลดลง 2.2% จากสัปดาห์ก่อน โดยอยู่ที่ 82.5% จากกำลังการผลิตรวมโดยเฉลี่ย ทั้งนี้ ปีเตอร์ บิวเทล จากคาเมรอน แฮนโอเวอร์ กล่าวว่า โรงกลั่นบางแห่งปิดดำเนินการในวันสุดท้ายของปีเพื่อทำการซ่อมบำรุง ซึ่งหมายความว่า อุปสงค์อาจแซงหน้าอุปทานได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ขณะเดียวกัน วานนี้ รัสเซียกล่าวว่า การเจรจากับยูเครนเกี่ยวกับราคาก๊าซในปี 2552 ไม่บรรลุผลสำเร็จ ทำให้รัสเซียจำเป็นต้องยุติการส่งก๊าซให้ยูเครนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.นี้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความหวาดหวั่นว่าอุปทานในยุโรปจะได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ ปี 2551 เป็นปีที่ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวผันผวนที่สุด โดยราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 147.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากการคาดการณ์เรื่องการขยายตัวอย่างรวดเร็วในจีน อินเดีย และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงทำให้นักลงทุนในตลาดเงินย้ายมาลงทุนในตลาดน้ำมันแทน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันได้เริ่มปรับตัวลงจากจุดพีคดังกล่าว ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตสินเชื่อในสหรัฐได้เริ่มลุกลามบานปลายกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวหรือถึงขั้นถดถอยทั่วโลก และส่งผลสืบเนื่องไปถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแม้แต่เฮอริเคนกุสตาฟและไอค์ที่พัดถล่มอ่าวเม็กซิโกในเดือนก.ย. หรือความชัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสก็ไม่สามารถสกัดกั้นการร่วงลงของราคาน้ำมันได้

จิม ริทเทอร์บุช ประธานบ.ริทเทอร์บุช แอนด์ แอสโซสิเอทส์ กล่าวว่า เขาเฝ้าดูตลาดน้ำมันพุ่งทะยานตลอด 25 ปีที่ผ่านมา และไม่เคยเห็นหรือคาดว่าจะมีปีไหนที่ตลาดผันผวนได้มากเหมือนปีนี้ พร้อมกล่าวว่า สภาพคล่องที่มีมากเกินเมื่อช่วงต้นปีทำให้เฮดจ์ฟันด์เข้ามาเก็งกำไรในน้ำมันอย่างคึกคัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ