สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเมื่อคืนนี้ (13 ม.ค.) หลังจากเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของบารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โดยกล่าวว่ามาตรการฉบับใหม่นี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัวขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากภาวะอากาศหนาวเย็นและข่าวเรื่องการลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบีย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 19 เซนต์ ปิดที่ 37.78 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดของวันที่ 36.10 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 4.48 เซนต์ ปิดที่ 1.1489 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนก.พ.ดีดขึ้น 3.17 เซนต์ ปิดที่ 1.5141 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน พุ่งขึ้น 1.92 ดอลลาร์ ปิดที่ 44.83 ดอลลาร์/บาร์เรล
ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์ด้านพลังงานจากอลารอน เทรดดิ้งกล่าวว่า นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบหลังจากเบอร์นันเก้กล่าวแสดงความคิดเห็นในการประชุมที่กรุงลอนดอนว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ที่เสนอโดยโอบามานั้น เป็นมาตรการที่เหมาะสมและแข็งแกร่งพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ และจะช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ด้านการเงินได้ในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันนิวยอร์กยังได้รับแรงหนุนจากข้อมูลของบริษัทดีทีเอ็น เมเทโอร์โลจิกซ์ ที่พยากรณ์ว่า อุณหภูมิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติในช่วง 6-10 วันข้างหน้า และข่าวที่ว่าซาอุดิอาระเบียได้ลดปริมาณการผลิตน้ำมันลง 1.7 ล้านบาร์เรล/วันนับตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้ว และซาอุดิอาระเบียวางแผนจะปรับลดปริมาณการผลิตลงอีกในเดือนก.พ.
"อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในช่วงขาลงหลังจากที่ทะยานขึ้นเหนือระดับ 50 ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าข่าวที่ว่ากลุ่มโอเปคจะลดกำลังการผลิตลงอีกในการประชุมเดือนก.พ.เพื่อสกัดกั้นการร่วงลงของราคาน้ำมัน อีกทั้งไม่ให้ความสนใจต่อสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง และความขัดแย้งด้านการลำเลียงก๊าซธรรมชาติระหว่างยูเครนและรัสเซีย" ไฟนน์กล่าว
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่ายอดขาดดุลการค้าเดือนพ.ย.ร่วงลงเกือบ 29% แตะระดับ 4.04 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการร่วงลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 12 ปี เนื่องจากความต้องการสินค้าจากผู้บริโภคและราคาน้ำมันร่วงลงทำให้ปริมาณการนำเข้าลดลงครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์
สำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) คาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันในตลาดโลกปี 2552 จะลดลง 810,000 บาร์เรล/วันจากปี 2551
นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันประจำสัปดาห์ซึ่งกระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันพุธนี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันดิบอาจเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นอาจเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินอาจเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรล