สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (9 ก.พ.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับตัวเลขจ้างงานสหรัฐที่ร่วงลงอย่างหนัก นอกจากนี้ นักลงทุนแทบจะไม่ให้น้ำหนักต่อคำขู่ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ที่ว่าจะลดกำลังการผลิตลงอีก
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ( New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมี.ค.ลดลง 61 เซนต์ ปิดที่ 39.56 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนมี.ค.ลดลง 3.6 เซนต์ ปิดที่ 1.2471 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนมี.ค.ลดลงแตะระดับ 1.3523 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมี.ค.ลดลง 19 เซนต์ ปิดที่ 46.02 ดอลลาร์/บาร์เรล
ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากบริษัท อลารอน เทรดดิ้ง กล่าวว่า ตลาดน้ำมันนิวยอร์กถูกปกคลุมด้วยกระแสความวิตกกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขจ้างงานประจำเดือนม.ค. ร่วงลง 598,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นสถิติที่ร่วงลงหนักสุดในรอบ 35 ปี และรุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 524,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานพุ่งขึ้นแตะระดับ 7.6% เมื่อเทียบกับระดับ 7.2% ในเดือนธ.ค. และทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปี 2535 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้กดดันนายจ้างให้ปรับลดจำนวนพนักงาน
นักลงทุนแทบจะไม่ให้ความสำคัญกับการที่นายอับดุลเลาะห์ เอล-บาดรี เลขาธิการโอเปคที่ประกาศว่า กลุ่มโอเปคอาจลดกำลังการผลิตลงอีก หลังจากที่การตัดสินใจลดการผลิต 2.2 ล้านบาร์เรล/วันของที่ประชุมโอเปคเมื่อเดือนที่แล้ว ไม่ส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันมากนัก นอกจากนี้ โอเปคจะเลื่อนโครงการน้ำมันและแก๊ส 35-150 โครงการออกไปก่อน
บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประกาศว่าบริษัทจะปลดพนักงาน 20,000 ตำแหน่งทั่วโลก หรือ 8.5%ของอัตราจ้างงานทั้งหมดในองค์กร ภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ เพื่อรับมือกับการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 9 ปี
ขณะที่บริษัท รอยัล ดัทช์ เชลล์ ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันรายใหญ่สุดในยุโรป เปิดเผยตัวเลขขาดทุนสุทธิ 2.81 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 ปี 2551 สวนทางกับไตรมาส 4 ปี 2550 ที่บริษัทมีกำไรสุทธิ 8.47 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากราคาน้ำมันร่วงลงอย่างรุนแรงและบริษัทได้ปรับลดมูลค่าสินค้าคงคลัง
ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2552 ลง 1 ล้านบาร์เรล/วัน เหลือเพียง 85.3 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่เลวร้ายยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวขึ้น ขณะที่กลุ่มโอเปคและสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (อีไอเอ) ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์พลังงานลงเช่นกัน โดยโอเปคคาดว่า ความต้องการใช้น้ำมันในปีนีจะลดลง 180,000 บาร์เรล/วัน และอีไอเอ ในสังกัดกระทรวงพลังงานของสหรัฐ ระบุว่า ดีมานด์น้ำมันดิบอาจจะลดลง 800,000 บาร์เรล/วันวัน
นักลงทุนจับตาดูการลงมติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงเที่ยงของวันอังคารที่ 10 ก.พ.ตามเวลาสหรัฐ หรือเที่ยงคืนตามเวลาไทย หลังจาวุฒิสภาสหรัฐบรรลุข้อตกลงในการประนีประนอมเพื่อผ่านแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ภายหลังจากวุฒิสมาชิกสายเดโมแครตเห็นพ้องที่จะปรับลดวงเงินของแผนดังกล่าวลงสู่ระดับ 8 แสนล้านดอลลาร์ จากเดิม 9.37 แสนล้านดอลลาร์