สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงต่ำกว่าระดับ 35 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (17 ก.พ.) เนื่องจากความวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอย และข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมี.ค.ร่วงลง 2.58 ดอลลาร์ ปิดที่ 34.93 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนมี.ค.ลดลง 9.45 เซนต์ ปิดที่ 1.1118 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนมี.ค.ลดลง 11.36 เซนต์ ปิดที่ 1.1864 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมี.ค.ร่วงลง 2.25 ดอลลาร์ ปิดที่ 41.03 ดอลลาร์/บาร์เรล
ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากอลารอน เทรดดิ้ง กล่าวว่า กระแสความวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอยส่งผลให้นักลงทุนกระหน่ำขายสัญญาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทอื่นๆ หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ปี 2551 ของญี่ปุ่นหดตัวลง 12.7% ซึ่งเป็นสถิติที่หดตัวลงรุนแรงที่สุดในรอบ 35 ปี
ขณะที่สมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษ (CBI) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอังกฤษอาจหดตัวลง 3.3% จากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะหดตัวลงเพียง 1.7% และคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีนี้ เศรษฐกิจอังกฤษจะหดตัวลงเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน
นอกจากนี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท เอเอ็มพี แคปิตอล กล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ถดถอยอย่างหนักเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจฉุดเศรษฐกิจออสเตรเลียให้เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่สุดของออสเตรเลีย ดังนั้นภาคทรัพยากรและการเกษตรของออสเตรเลียจะได้รับผลกระทบหนักสุดในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์คเปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตร่วงลงสู่ -34.65 จุดในเดือนก.พ.ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือนก.ค.ปี 2544
นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ซึ่งกระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ (การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวล่าช้ากว่าปกติ 1 วันเนื่องจากวันจันทร์ที่ 16 ก.พ.เป็นวันหยุดเนื่องในวันประธานาธิบดีสหรัฐ) โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดาการณ์ว่าสต็อกน้ำมันดิบจะพุ่งขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะลดลง 1.6 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินจะลดลง 400,000 บาร์เรล
นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ที่ออกมาส่งสัญญาณโดยตลอดว่าจะลดกำลังการผลิตลงอีกในการประชุมเดือนมี.ค.นี้ หลังจากที่การตัดสินใจลดการผลิต 2.2 ล้านบาร์เรล/วันในที่ประชุมโอเปคเมื่อเดือนที่แล้ว ไม่สามารถสกัดการร่วงลงของราคาน้ำมันได้