ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบปิดร่วง $1.36 หลัง EIA ลดคาดการณ์ดีมานด์พลังงาน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 11, 2009 06:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลง 1.36 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (10 มี.ค.) หลังจากหน่วยงานของสหรัฐประกาศลดคาดการณ์ความต้องการพลังงานทั่วโลก และระบุว่าราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยของปีนี้จะอยู่ต่ำกว่าระดับในปัจจุบัน

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.ดิ่งลง 1.36 ดอลลาร์ หรือ 2.89% ปิดที่ 45.71 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 45.33-48.32 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนเม.ย.ลดลง 1.67 เซนต์ หรือ 1.37% ปิดที่ 1.1987 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินเดือนเม.ย.ลดลง 3.79 เซนต์ ปิดที่ 1.2972 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนเม.ย.ลดลง 17 เซนต์ ปิดที่ 43.96 ดอลลาร์/บาร์เรล

ลินดา แรฟฟิลด์ นักวิเคราะห์จาก Platts กล่าวว่า ในช่วงเช้านั้นสัญญาน้ำมันดิบทะยานขึ้นขานรับนายเบน เบอร์นันเก้ ที่กล่าวในที่ประชุมสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐจะสิ้นสุดลงภายในปีนี้ หากรัฐบาลประสบความสำเร็จในการให้ความช่วยเหลือภาคเอกชน และคาดว่าตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จะกลับมามีภาวะการซื้อขายที่คึกคักเช่นเดิม

แต่ในช่วงบ่าย สัญญาน้ำมันดิบดิ่งลงมาเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบ หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน (EIA) ของสหรัฐได้ปรับลดคาดการณ์ดีมานด์น้ำมันในตลาดโลกและตลาดสหรัฐประจำปี 2552 ลงอีกครั้ง โดย EIA คาดว่า ดีมานด์น้ำมันในตลาดโลกจะอยุ่ที่ 84.27 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2552 ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ประมาณ 430,000 บาร์เรลต่อวัน และถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2548 ขณะเดียวกัน EIA คาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันในสหรัฐอาจอยู่ที่ 19 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2552 ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ประมาณ 20,000 บาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวในตลาดน้ำมันนิวยอร์กในระยะนี้คือการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 15 มี.ค.ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยมีกระแสคาดการณ์ในวงกว้างว่าโอเปคจะลดกำลังการผลิตลงอีก ขณะที่บลูโกลด์ แคปิตอล เมเนจเมนท์ ซึ่งเป็นเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ของอังกฤษ คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะพุ่งขึ้น 37% แตะที่ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล หากกลุ่มโอเปคมีมติลดกำลังการผลิตในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการลดกำลังการผลิตครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีพ.ศ.2551

อย่างไรก็ตาม นายอับดุลเลาะห์ บิน อาหมัด อัล-อะติยะห์ รัฐมนตรีพลังงานของการ์ตา กล่าวว่าประเทศสมาชิกต้องเห็นพ้องต้องกัน 100% จึงจะมีการพิจารณาลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม

ทั้งนี้ โอเปคเริ่มลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 500,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป ซบเซาหนักสุดในรอบกว่า 60 ปี ส่งผลกระทบให้ความต้องการน้ำมันลดลง หลังจากนั้นโอเปคก็ลดกำลังการผลิตอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนต.ค. และ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนธ.ค. รวมแล้วโอเปคลดกำลังการผลิตไปทั้งสิ้น 4.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

การปิโตรเลียมแห่งชาติของสหรัฐ (เอพีไอ) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 6 มี.ค.ลดลง 419,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นลดลง 279,000 บาร์เรล แต่สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล

นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันประจำสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 6 มี.ค. ซึ่งกระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันพุธนี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าสต็อกน้ำมันดิบจะลดลง 400,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะเพิ่มขึ้น 200,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินจะลดลง 800,000 บาร์เรล



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ