สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (11 มี.ค.) หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นเกินคาด และนักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) จะลดกำลังการผลิตในการประชุมวันที่ 15 มี.ค.นี้หรือไม่
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.ร่วงลง 3.38 ดอลลาร์ ปิดที่ 42.33 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนไหวในช่วง 45.35-42.33 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินเดือนเม.ย.ลดลง 4.6 เซนต์ ปิดที่ 1.2512 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนเม.ย.ลดลง 6.56 เซนต์ ปิดที่ 1.1331 ดอลลาร์/แกลลอน
ทอม โคลซา นักวิเคราะห์จาก Oil Price Information Service กล่าวว่า นักลงทุนกระหน่ำขายสัญญาน้ำมันดิบอย่างหนัก หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 6 มี.ค.เพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล แตะระดับ 351.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 400,000 บาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 145.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 143.3 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 3 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 212.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่คาดว่าจะขยับลงเพียง 400,000 บาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันลดลง 0.4% แตะระดับ 82.7%
"สต็อกน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นเกินความคาดหมายสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยและตัวเลขว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นในสหรัฐส่งผลให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย รวมถึงการใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งหากผู้บริโภคยังลดการใช้จ่ายต่อไป ก็จะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ถดถอยรุนแรงขึ้น" โคลซากล่าว
วอร์เรน บัฟเฟตต์ เจ้าของบริษัทเบิร์คเชียร์ แฮทธาเวย์ อิงค์ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านทางสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า เศรษฐกิจสหรัฐตกอยู่ในภาวะ "ดิ่งเหว" เนื่องจากตัวเลขว่างงานพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง อีกทั้งระบุว่าสหรัฐไม่เพียงแต่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเท่านั้น แต่ชาวอเมริกันยังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคอย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ซึ่งดูได้จากยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวลงอย่างรุนแรง
การแสดงความคิดเห็นของบัฟเฟตต์มีขึ้นหลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยว่า อัตราว่างงานในสหรัฐพุ่งขึ้นแตะ 8.1% ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 25 ปี และตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ปี 2551 ของสหรัฐ หดตัวลง 6.2%ต่อปี ซึ่งเป็นสถิติที่หดตัวรุนแรงสุดในรอบ 27 ปี
นักลงทุนจับตาดูการประชุมโอเปคซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 15 มี.ค.ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งแม้จะกระแสคาดการณ์ออกมาเป็นระยะๆว่าโอเปคจะลดกำลังการผลิตลงอีก แต่นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจต่อข่าวคาดการณ์ดังกลาว หลังจากลีโอ ดรอลลัส รองผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพลังงานโลกคาดการณ์ว่า ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นสมาชิกรายใหญ่สุดและมีอิทธิพลมากที่สุดในกลุ่มโอเปคจะออกมาขัดขวางแผนการลดกำลังการผลิตในการประชุมวันที่ 15 มี.ค.นี้
ขณะที่นายอับดุลเลาะห์ บิน อาหมัด อัล-อะติยะห์ รัฐมนตรีพลังงานของการ์ตา กล่าวว่าประเทศสมาชิกต้องเห็นพ้องต้องกัน 100% จึงจะมีการพิจารณาลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมได้