สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้น 4.70 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (12 มี.ค.) หลังจากมีข่าวว่า รัสเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญของซาอุดิอาระเบียในด้านการผลิตน้ำมัน จะสนับสนุนกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ให้ลดกำลังการผลิตลงอีก
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 4.70 ดอลลาร์ ปิดที่ 47.03 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินเดือนเม.ย.ปิดบวก 9.45 เซนต์ แตะที่ 1.3357 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนเม.ย.ปิดบวก 9.3 เซนต์ แตะที่ 1.2264 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 3.69 ดอลลาร์ ปิดที่ 44.88 ดอลลาร์/บาร์เรล
สตีเฟ่น ชอร์ค นักวิเคราะห์และบรรณาธิการของนิตยสารด้านพลังงาน เดอะ ชอร์ค รีพอร์ท กล่าวว่า นักลงทุนทุ่มซื้อสัญญาน้ำมันดิบอย่างหนาแน่นหลังจากมีรายงานว่า นายไอกอร์ เซชิน รองประธานาธิบดีรัสเซียจะเข้าร่วมประชุมโอเปคในวันอาทิตย์ที่ 15 มี.ค.นี้ และจะสนับสนุนโอเปคให้ลดกำลังการผลิตลงอีก
"รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางตลาดน้ำมันโลก เพราะรัสเซียสามารถผลิตน้ำมันได้จำนวนมากในแต่ละปี และขณะนี้รัสเซียลุกขึ้นสนับสนุนโอเปคให้ลดกำลังการผลิตเพื่อสร้างสมดุลอุปทานในตลาดโลกที่รัสเซียอ้างว่ามีอยู่เป็นจำนวนมาก" ชอร์คกล่าว
การประชุมโอเปคซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 15 มี.ค.ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งแม้จะกระแสคาดการณ์ออกมาเป็นระยะๆว่าโอเปคจะลดกำลังการผลิตลงอีก แต่นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจต่อข่าวคาดการณ์ดังกลาว หลังจากลีโอ ดรอลลัส รองผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพลังงานโลกคาดการณ์ว่า ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นสมาชิกรายใหญ่สุดและมีอิทธิพลมากที่สุดในกลุ่มโอเปคจะออกมาขัดขวางแผนการลดกำลังการผลิตในการประชุมวันที่ 15 มี.ค.นี้
ขณะที่นายอับดุลเลาะห์ บิน อาหมัด อัล-อะติยะห์ รัฐมนตรีพลังงานของการ์ตา กล่าวว่าประเทศสมาชิกต้องเห็นพ้องต้องกัน 100% จึงจะมีการพิจารณาลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมได้
กระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 6 มี.ค.เพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล แตะระดับ 351.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 400,000 บาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 145.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 143.3 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 3 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 212.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่คาดว่าจะขยับลงเพียง 400,000 บาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันลดลง 0.4% แตะระดับ 82.7%