สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (17 มี.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขสร้างบ้านที่พุ่งขึ้นเหนือความคาดหมาย ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจะกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้งและจะช่วยหนุนดีดมานด์พลังงานพุ่งขึ้นด้วย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 1.81 ดอลลาร์ ปิดที่ 49.16 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ทะยานขึ้น 4.26 ดอลลาร์ ปิดที่ 48.24 ดอลลาร์/บาร์เรล
ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากบริษัท อลารอน เทรดดิ้งกล่าวว่า "ตัวเลขสร้างบ้านในสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเกินความคาดหมายช่วยกระตุ้นนักลงทุนให้กลับเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบ เพราะเชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่จะกลับมามีเสถียรภาพและจะช่วยหนุนดีมานด์พลังงานเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะในฤดูขับขี่ยานยนต์ในหน้าร้อนของสหรัฐซึ่งจะมีขึ้นเร็วๆนี้"
กระทรวงพาณิชย์รายงานว่าตัวเลขการสร้างบ้านใหม่พุ่งขึ้น 22.2% แตะระดับ 583,000 ยูนิตในเดือนก.พ. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าตัวเลขการสร้างบ้านใหม่จะร่วงลง 3.4% เหลือเพียง 450,000 ยูนิต
นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายในตลาดยังได้รับปัจจัยบวกจากการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นนิวยอร์ก และการคาดการณ์ของกลุ่มโอเปคที่ว่า ราคาน้ำมันดิบจะดีดขึ้นมายืนที่ระดับ 75 ดอลลาร์/บาร์เรลในเร็วๆนี้หากประเทศสมาชิกโอเปคเร่งพิจารณาโครงการลงทุนใหม่ๆด้านการผลิตและการสำรวจแหล่งน้ำมัน พร้อมกับตำหนิสหรัฐและประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายอื่นๆว่ามีส่วนทำให้เศรษฐกิจโลกประสบปัญหา
จิม ริทเทอร์บุช ประธานบริษัท Ritterbusch and Associates กล่าวว่า นักลงทุนยังคงเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบแม้โอเปคมีมติคงเพดานการผลิตไว้ที่ระดับปัจจุบัน โดยนักลงทุนให้ความสนใจต่อการคาดการณ์ที่ว่าสต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 13 มี.ค.จะเพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะเพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรล
ที่ประชุมโอเปคมีมติคงเพดานการผลิตในปัจจุบันเอาไว้จนถึงเดือนพ.ค.และจะมีการประเมินสถานการณ์ในตลาดพลังงานอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไปซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 28 พ.ค.นี้ โดยปัจจุบันเพดานการผลิตน้ำมันของโอเปคอยู่ที่ 24.84 ล้านบาร์เรล/วัน หลังจากชาติสมาชิกตัดสินใจลดเพดานการผลิตลง 4.2 ล้านบาร์เรล/วันเมื่อปีที่แล้ว เพื่อสกัดกั้นราคาน้ำมันที่ร่วงลงอย่างหนัก
ส่วนในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่าสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล แตะระดับ 351.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 400,000 บาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 145.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 143.3 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 3 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 212.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่คาดว่าจะขยับลงเพียง 400,000 บาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันลดลง 0.4% แตะระดับ 82.7%