สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงต่ำกว่าระดับ 50 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ (7 เม.ย.) เพราะได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของตลาดหุ้นนิวยอร์ก ซึ่งเป็นผลมาจากความวิตกกังวลที่ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทเอกชนหดตัวลงและจะยิ่งทำให้ดีมานด์พลังงานทั่วโลกทรุดตัวลงด้วย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ค.ร่วงลง 1.90 ดอลลาร์ ปิดที่ 49.15 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 50.35-49.15 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนพ.ค.ลดลง 1.51 เซนต์ ปิดที่ 1.4604 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนพ.ค.ลดลง 2.88 เซนต์ ปิดที่ 1.3903 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ค.ดิ่งลง 1.02 ดอลลาร์ ปิดที่ 51.22 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดาเนียล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากบริษัท อลารอน เทรดดิ้ง คอร์ป กล่าวว่า "นักลงทุนจำนวนมากเทขายสัญญาน้ำมันดิบหลังจากตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงอย่างหนัก แต่ผมมองว่านั่นเป็นเพียงปัจจัยทางจิตวิทยา ส่วนปัจจัยที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ดีมานด์พลังงาน ซึ่งหากมีข้อมูลบ่งชี้ว่าดีมานด์ปรับตัวเพิ่มขึ้น นักลงทุนก็จะกลับเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบอย่างคึกคักอีกครั้ง"
ด้านนายทอม โคลซา นักวิเคราะห์จาก Oil Price Information Service กล่าวว่า นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบหลังจากดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงเกือบ 200 จุด ภายหลังจากไมค์ มาโย นักวิเคราะห์ชื่อดังด้านการธนาคารจากบริษัทหลักทรัพย์คาลิยงในนิวยอร์กคาดการณ์ว่า ธนาคารในสหรัฐจะถูกกระทบอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยคาดว่าหนี้เสียในภาคธนาคารอาจเพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 3.5% ภายในช่วงสิ้นปีพ.ศ.2553 ขณะที่จอร์จ โซรอส ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินระดับโลกแสดงความคิดเห็นว่า การซื้อขายอันคึกคักซึ่งเกิดขึ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์กตลอด 4 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ไม่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะกระทิง เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงหดตัวลง
นอกจากนี้ มาร์ค ฟาเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนชื่อดังระดับโลกและเป็นผู้ตีพิมพ์นิตยสารการลงทุน Gloom, Boom and Doom Report คาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกจะร่วงลงรุนแรงถึง 10% เพราะเข้าสู่ระยะ "พักฐาน" หลังจากตลาดทะยานขึ้นแข็งแกร่งเมื่อ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
กระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลสต็อกน้ำมันประจำสัปดาห์ในคืนวันพุธนี้ตามเวลาประเทศไทย โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะลดลง 400,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินจะลดลง 1 ล้านบาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันจะเพิ่มขึ้น 0.2%
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูการประชุมโอเปคในวันที่ 28 พ.ค.นี้ หลังจากโอเปคมีมติคงเพดานการผลิตในการประชุมครั้งก่อนที่กรุงเวียนนา โดยปัจจุบันเพดานการผลิตน้ำมันของโอเปคอยู่ที่ 24.84 ล้านบาร์เรล/วัน