สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (22 เม.ย.) แม้กระทรวงพลังงานสหรัฐระบุว่าสต็อกน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นเกินคาดซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ดีมานด์พลังงานหดตัวลงก็ตาม
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ดีดขึ้น 30 เซนต์ หรือ 0.62% ปิดที่ 48.85 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 47.70-49.09 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนพ.ค.ร่วงลง 1.79 เซนต์ หรือ 1.33% ปิดที่ 1.3299 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนพ.ค.ลดลง 2.38 เซนต์ หรือ 1.68% ปิดที่ 1.3906 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมิ.ย.ลดลง 1 เซนต์ หรือ 0.02% ปิดที่ 49.81 ดอลลาร์/บาร์เรล
ฟิล ไฟน์ นักวิเคราะห์จากอลารอน เทรดดิ้ง กล่าวว่า นักลงทุนให้น้ำหนักต่อการเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นนิวยอร์กมากกว่าสต็อกน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นเกินคาด โดยเมื่อคืนนี้ดาวโจนส์ร่วงลงหลังจากมอร์แกน สแตนลีย์รายงานตัวเลขขาดทุน 578 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นสถิติที่ขาดทุนติดต่อกัน 2 ไตรมาส พร้อมกับประกาศลดจ่ายเงินปันผล เพราะถูกกระทบอย่างหนักจากภาวะตกต่ำในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเรื่องงบดุลของภาคการธนาคาร
กระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 17 เม.ย.พุ่งขึ้น 3.9 ล้านบาร์เรล แตะที่ 370.6 ล้านบาร์เรลซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 19 ปี และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.6 ล้านบาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 800,000 บาร์เรล แตะที่ 217.3 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 400,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นพุ่งขึ้น 2.7 ล้านบาร์เรล แตะที่ 142.3 ล้านบาร์เรล แต่ยังน้อยกว่าที่คาดว่าจะร่วงลง 700,000 บาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันดิบพุ่งขึ้น 3% แตะที่ 83.4% มากกว่าที่คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 0.7%
สต็อกน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นเกินคาดสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ดีมานด์พลังงานหดตัวลงด้วย โดยข้อมูลสต็อกน้ำมันของกระทรวงพลังงานมีขึ้นหลังจากการปิโตรเลียมสหรัฐ (API) รายงานว่าสต็อกน้ำมันดิบลดลง 1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 107,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 458,000 บาร์เรล
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานว่า ปริมาณการใช้น้ำมันสหรัฐ จีน และประเทศอื่นๆในกลุ่มชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยคาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันในสหรัฐจะลดลง 610,000 บาร์เรลต่อวัน และในจีนจะลดลง 20,000 บาร์เรลต่อวัน
นักลงทุนยังจับตาดูการประชุมโอเปคในวันที่ 28 พ.ค.นี้ หลังจากนายมูฮัมหมัด อาลี คาทิบี ผู้แทนอิหร่านประจำกลุ่มโอเปคกล่าวว่า อิหร่านจะสนับสนุนให้โอเปคลดกำลังการผลิตน้ำมันในการประชุมครั้งนี้ หากตลาดน้ำมันอยู่ในภาวะ over supply