ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX:น้ำมันดิบปิดพุ่ง $2.08 ขณะนลท.คาดภาคการผลิตสหรัฐฟื้นตัว

ข่าวต่างประเทศ Saturday May 2, 2009 07:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งสูงขึ้นเมื่อคืนนี้ (1 พ.ค.) โดยนักลงทุนไม่มีปฏิกิริยาต่อการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซาหลายรายการ เพราะพวกเขาคาดหวังว่า บรรยากาศในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐจะดีขึ้นในเร็ววัน หลังมีรายงานอัตราการตกต่ำของดัชนีภาคการผลิตเริ่มชะลอตัว

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.พุ่งขึ้น 2.08 ดอลลาร์ ปิดที่ 53.20 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยในการซื้อขายระหว่างวันนั้น ราคาน้ำมันไต่ระดับขึ้นสูงสุดที่ 53.65 ดอลลาร์/บาร์เรล

ขณะที่สัญญาราคาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 5.16 เซนต์ ปิดที่ 1.3884 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 5.16 เซนต์ ปิดที่ 1.5174 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 2.05 ดอลลาร์ปิดที่ 52.85 ดอลลาร์/บาร์เรล

ภาคอุตสาหกรรมหนักของสหรัฐเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ใช้น้ำมัน ซึ่งการปลดพนักงานและปิดโรงงานหลายแห่งต่างส่งผลให้ปริมาณสต็อกน้ำมันดิบพุ่งสูงเป็นจำนวนมาก ดังนั้นราคาน้ำมันจึงดิ่งลงเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา และเริ่มดีดตัวขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์นี้

สำนักงานจัดการอุปทานเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตเดือนเม.ย.ที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. โดยดัชนีดังกล่าวร่วงน้อยลงซึ่งจะบ่งชี้ถึงสถานการณ์โดยรวมของภาคการผลิตในแง่ต่างๆเช่น การสั่งซื้อสินค้าล็อตใหม่ บรรยากาศด้านการผลิต การจ้างงาน สินค้าคงคลัง ราคาสินค้า และการนำเข้า-ส่งออก

กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ในเดือนมี.ค. ยอดสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงานของสหรัฐลดลงหนักกว่าคาด ขณะที่การส่งออกสินค้าร่วงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8

ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ A (H1N1) หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันเช่นกัน เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลต่อการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ

โดยไมเคิล ลินช์ ประธานของ Strategic Energy & Economic Research กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ทั่วโลกยังไม่มีทีท่าว่าจะคลายความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์จากเจบีซี เอนเนอร์จีย์ที่มองว่า ความวิตกกังวลต่อโรคระบาดดังกล่าวยังคงมีผลต่อราคาน้ำมันอยู่

ขณะเดียวกัน เชฟรอน คอร์ปเปิดเผยรายได้สุทธิไตรมาสแรกที่ดิ่งลง 64% จากระดับในปีที่แล้ว โดยบริษัทมีผลกำไรประจำไตรมาสอยู่ที่ 1.84 พันดอลลาร์ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2546



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ