สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบปีเมื่อคืนนี้ (4 มิ.ย.) เพราะได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงและตัวเลขว่างงานประจำสัปดาห์ของสหรัฐที่ปรับตัวลงเกินคาด
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 2.69 ดอลลาร์ หรือ 4.07% ปิดที่ 68.81 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งถือเป็นระดับปิดสูงสุดในรอบปี
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนก.ค.ดีดขึ้น 4.56 เซนต์ หรือ 2.62% ปิดที่ 1.7840 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 6.05 เซนต์ ปิดที่ 1.9621 ดอลลาร์/แกลลอน
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 2.83 ดอลลาร์ ปิดที่ 68.71 ดอลลาร์/บาร์เรล
ไมเคิล ลินช์ นักวิเคราะห์จาก Strategic Energy & Economic Research กล่าวว่า นักลงทุนทุ่มซื้อสัญญาน้ำมันดิบอย่างคับคั่งหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการในระหว่างว่างงานในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 30 พ.ค.ร่วงลง 4,000 ราย แตะระดับ 621,000 ราย มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 620,000 ราย
ตลาดน้ำมัน NYMEX ได้รับปัจจัยบวกจากค่าเงินดอลลาร์ที่ร่วงลงเมื่อเทียบกับเยนและยูโร และจากการที่ออยล์ มูฟเมนท์ ระบุว่า ปริมาณการส่งออกน้ำมันของกลุ่มโอเปคปรับตัวลดลงเล็กน้อยเพื่อให้สอดคล้องกับดีมานด์พลังงานทั่วโลกที่ลดลง
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุจากการที่โกลด์แมน แซคส์ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันช่วงสิ้นปีพ.ศ.2552 โดยคาดว่าราคาน้ำมันอาจอยู่ที่ 85 ดอลลาร์/ บาร์เรล จากเดิมที่คาดว่าอยู่ที่ 65 ดอลลาร์ และโกลด์แมนยังคาดการณ์ด้วยว่าราคาน้ำมันช่วงสิ้นปีพ.ศ.2553 อาจอยู่ที่ 95 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักลงทุนจับตาดูข้อมูลข้อมูลด้านแรงงานของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในคืนวันศุกร์ตามเวลาประเทศไทย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าอัตราว่างงานเดือนพ.ค.จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 9.2% ซึ่งเป็นสถิติที่ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 9% เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 25 ปี
กระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 29 พ.ค.พุ่งขึ้น 2.9 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 366 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะร่วงลง 1.4 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 200,000 บาร์เรล แตะระดับ 203.2 ล้านบาร์เรล ตรงข้ามกับที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 400,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 1.2% แตะระดับ 86.3%