สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเกือบ 4% เมื่อคืนนี้ (22 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกระหน่ำขายสัญญาน้ำมันดิบด้วยความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หลังจากธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะหดตัวลงอีกในปีนี้
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ค.ร่วงลง 2.62 ดอลลาร์ ปิดที่ 66.93 ดอลลาร์/บาร์เรล
(สัญญาเดือนก.ค.ครบกำหนดส่งมอบแล้วเมื่อคืนนี้ (วันจันทร์ที่ 22 มิ.ย.) ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเดือนส.ค.ดิ่งลง 2.52 ดอลลาร์ ปิดที่ 67.50 ดอลลาร์/บาร์เรล)
สัญญาน้ำมันเบนซินเดือนก.ค.ลดลง 6.47 เซนต์ ปิดที่ 1.8597 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนก.ค.ลดลง 5.92 เซนต์ ปิดที่ 1.7275 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน เดือนก.ค.ดิ่งลง 2.21 ดอลลาร์ ปิดที่ 66.98 ดอลลาร์/บาร์เรล
ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากบริษัท อลารอน เทรดดิ้ง กล่าวว่า นักลงทุนกระหน่ำขายสัญญาน้ำมันดิบเนื่องจากกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้ฉุดตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งลงกว่า 200 จุดด้วย หลังธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัว 2.9% เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะหดตัวเพียง 1.7% ขณะเดียวกันธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในปีหน้า โดยคาดว่าจะขยายตัวราว 2% แต่ลดลงจากระดับคาดการณ์เมื่อ 3 เดือนก่อนว่าจะขยายตัว 2.3%
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกระแสเงินทุนจากประเทศกำลังพัฒนาที่หดตัวลง หลังจากที่กระแสเงินทุนจากประเทศกำลังพัฒนาในปี 2550 มีสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ในปีนี้คาดว่า กระแสเงินทุนจากประเทศกำลังพัฒนาจะหดตัวลงมาเหลือเพียง 3.63 แสนล้านดอลลาร์
ไฟนน์กล่าวว่า "นักลงทุนเดินหน้าเทขายสัญญาน้ำมันดิบตั้งแต่ช่วงเช้า แม้มีข่าวการปะทะกันอย่างรุนแรงในอิหร่าน ซึ่งหากเป็นเมื่อปีที่แล้ว ข่าวดังกล่าวจะหนุนราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นเพราะอิหร่านเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของกลุ่มโอเปค แต่ขณะนี้นักลงทุนหันมาให้น้ำหนักกับตัวเลขเศรษฐกิจและการคาดการณ์เศรษฐกิจมากกว่า"
นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 19 มิ.ย.ซึ่งกระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันพูธนี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบอาจลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นอาจเพิ่มขึ้น 900,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินอาจเพิ่มขึ้น 1.3 ล้าน บาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันอาจเพิ่มขึ้น 0.1%