In Focusจับตาเส้นทางราคาน้ำมันดิบ เมื่อดีมานด์-ซัพพลายกลายเป็น"พระรอง"

ข่าวต่างประเทศ Monday July 27, 2009 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การแกว่งตัวอย่างหวือหวาและพลิกความคาดหมายของ "ราคาน้ำมันดิบ" ในตลาดโลก กลายเป็นเป้าความสนใจของเหล่านักลงทุนและนักวิเคราะห์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุว่าก่อนหน้านี้มีนักวิเคราะห์จากหลายสำนักฟันธงอย่างมั่นอกมั่นใจว่า วิกฤตเศรษฐกิจจะเป็น "ตัวแปร" สำคัญที่ทำให้สัญญาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าดิ่งลงในปีนี้ บางคนคาดว่าจะร่วงลงแตะระดับ 20 ดอลลาร์/บาร์เรลเลยทีเดียว แต่เมื่อดูจากสถิติตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงไตรมาสปัจจุบัน น้ำมันดิบกลับทำตัวเป็นวัตถุที่ "ลื่นไหล" เหมือนกับรูปลักษณ์ภายนอก เหตุเพราะเคลื่อนตัวหวือหวาร้อนแรง ไล่จับยาก ...และยากจะคาดเดา

สัญญาน้ำมันดิบที่กล่าวมาข้างต้นคือสัญญาการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์ส (futures) ของน้ำมันดิบ ตลาดที่สำคัญคือ NYMEX ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงนิวยอร์ก ส่วนแห่งอื่นๆที่สำคัญก็คือ ตลาด Futures Exchange แห่งลอนดอน หรือตลาด International Petroleum Exchange และอีกแห่งหนึ่งคือตลาด Dubai Mercantile Exchange (DME) ... ส่วนประเภทของน้ำมันนั้น ประเภทแรก ได้แก่ West Texas Intermediate (WTI) หรือ light sweet crude เป็นน้ำมันดิบผสมของสหรัฐ (น้ำมันดิบที่มีความหนาแน่นและกำมะถันต่ำที่ตลาดนิยมมากที่สุด และถูกนำไปกลั่นเป็นน้ำมันเบนซิน ดีเซล และเป็นมาตรฐานสำหรับตราสารฟิวเจอร์น้ำมันที่ซื้อขายกันในสหรัฐ อีกทั้งยังเป็นตัวชึ้วัดการผลิตน้ำมันของสหรัฐด้วย อีกประเภทคือ North Sea Brent ที่รัสเซีย ไนจีเรีย ใช้อ้างอิงกำหนดราคาน้ำมันดิบที่ผลิตออกมา Brent ถือเป็นน้ำมันดิบผสมชนิดสำคัญที่สุดของตลาดยุโรป และเอเชีย ซึ่งวารสาร Platt's เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

เทรนด์ราคาน้ำมันที่ "ดูเหมือน" เคลื่อนไหวในช่วงขาลงช่วงต้นปี ทำให้นายฟิลิป เวอร์เลเกอร์ นักวิชาการที่เคยคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะสูงเกิน 100 ดอลลาร์เมื่อปี 2550 และอดีตที่ปรึกษารัฐบาลสหรัฐคาดว่า ราคาน้ำมันจะร่วงแตะ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ หลังจากที่เศรษฐกิจถดถอยกระทบดีมานด์พลังงานอย่างหนัก เขากล่าวว่า ซัพพลายน้ำมันดิบกำลังแซงหน้าดีมานด์อยู่ประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน พร้อมคาดการณ์ว่าน้ำมันดิบส่วนเกินจะสูงถึง 100 ล้านบาร์เรลภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการสำรองน้ำมันทั่วโลกตึงตัว และจะทำให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี .... ทำเอาหลายฝ่ายจับตามองและให้น้ำหนักกับการคาดการณ์ดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเวอร์เลเกอร์เป็นถึงศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยคาลการี

แต่หากดูสถานการณ์ราคาน้ำมันในปัจจุบัน หลายคนชักไม่แน่ใจว่าผู้ที่ได้ชื่อว่า "เซียน" อย่างเวอร์เลเกอร์ หรือเซียนท่านอื่นๆ จะคาดคะเนทิศทางราคาน้ำมันได้แม่นยำ เพราะราคาของน้ำมันดิบทุกวันนี้เคลื่อนไหวแบบไม่สอดคล้องกับความสัมพันธ์ของดีมานด์และซัพพลาย แต่อุปมาเหมือน "ต้นอ้อ" ที่ลู่ไปตามกระแสลมของข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจ และความเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างประเทศ

พลิกปูมเส้นทางราคาน้ำมันดิบ

หากยังจำกันได้ สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ปิดทำการวันสุดท้ายของศักราชปีหนู วันที่ 30 ธ.ค.2551 ร่วงลง 99 เซนต์ ปิดที่ 39.03 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากมีข่าวว่าอิสราเอลหยุดพักการสู้รบกับกลุ่มฮามาสเป็นเวลา 48 ชั่วโมง

แต่เมื่อตลาดเปิดทำการวันแรกของศักราชปีวัว วันที่ 6 ม.ค.2552 พุ่งพรวดขึ้นมา 2.47 ดอลลาร์ หรือ 5.33% ปิดที่ 48.81 ดอลลาร์/บาร์เรล เพียงเพราะมีรายงานว่ากองกำลังทหารอิสราเอลเริ่มปฏิบัติการโจมตีทางภาคพื้นดินในเมืองกาซาของปาเลสไตน์ และข่าวความขัดแย้งเรื่องการนำเข้าแก๊สระหว่างยูเครนและรัสเซีย ...เมื่อหลับตาก็คงจะเห็นภาพราคาน้ำมันดิบเหมือน "กระต่ายขาวตัวน้อย" ที่ตัวสั่นงันงกอยู่ท่ามกลางสมรภูมิ เมื่อได้ยินเสียงปืนก็ตื่นตูมกระโดดขึ้นไปไกลกว่า 2 ดอลลาร์...ขออภัย! 2 เมตร และเมื่อสิ้นเสียงปืนก็ถอยร่นกลับมา เห็นจะจริงอย่างที่กูรูหลายท่านวิเคราะห์ว่า การเคลื่อนไหวเช่นนี้หาได้สอดคล้องกับดีมานด์และซัพพลายไม่ !!

หากให้กระต่ายน้อยตัวเดิมเดินทางต่อไปจะพบว่าตั้งแต่ปลายไตรมาสแรกจนเข้าสู่ไตรมาสสอง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันดิบกลับไม่ใช่สถานการณ์ทางการเมืองอีกต่อไป แต่กลับเป็นข้อมูลเศรษฐกิจและผลประกอบการภาคเอกชน โดยทอม โคลซา นักวิเคราะห์จากออยล์ ไพรซ์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า ตัวเลขว่างงานในสหรัฐที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของนักลงทุนมากที่สุด ซึ่งทันทีที่สหรัฐรายงานว่าตัวเลขการจ้างงานเดือนมิ.ย.ร่วงลงเกินคาด 467,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 9.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 26 ปี...ราคาน้ำมันดิบ NYMEX ก็ดิ่งเหวเกือบ 3 ดอลลาร์ในวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา

แต่ในช่วงปลายไตรมาส 2 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน หลังจากภาคเอกชนสหรัฐรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งเกินคาด ประเดิมด้วยโกลด์แมน แซคส์ ธนาคารรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐที่เปิดเผยผลกำไรไตรมาสสองสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์และอันเดอร์ไรท์ที่สดใส ตามมาติดๆด้วยผลประกอบการที่ดีเกินคาดของเจพี มอร์แกน, อินเทล, แอปเปิล, โคคา-โคลา และอีกหลายบริษัท ซึ่งนักลงทุนมองว่าผลประกอบการที่สดใสเช่นนี้ย่อมบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีแววฟื้นตัวขึ้น และจะหนุนดีมานด์พลังงานเพิ่มขึ้นด้วย

โคลซายังกล่าวด้วยว่า อีกปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันดิบคือรายงานสต็อกน้ำมันประจำสัปดาห์ของสหรัฐ เขากล่าวว่า "เมื่อสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐร่วงลง นักลงทุนจะ 'ตีความ' ทันทีว่าสต็อกน้ำมันร่วงเพราะดีมานด์เพิ่มขึ้น จึงแห่กันเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบ แต่เมื่อสต็อกน้ำมันดิบพุ่งขึ้น นักลงทุนก็ตีความในทางตรงกันข้ามว่า สต็อกน้ำมันพุ่งเพราะดีมานด์หดตัว ซึ่งแท้ที่จริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะหลายครั้งที่สต็อกน้ำมันลดลงก็เพราะสหรัฐลดการนำเข้าหรือบริษัทพลังงานหลายแห่งลดการผลิต"

ประมวลกระแสวิเคราะห์

กอร์ดอน แมนนิ่ง นักวิเคราะห์ทางเทคนิคจาก เนชั่นแนล ออสเตรเลีย แบงก์ เชื่อว่า ราคาน้ำมันดิบจะพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะนักลงทุนหันมาให้น้ำหนักกับตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการเอกชน และกล่าวว่า โดยมากผู้ซื้อจะเข้าทำการซื้อขายในช่วงที่ดัชนี MACD (Moving Average Convergence-Divergence) ทะยานเหนือเส้นสัญญาณ (signal line) ซึ่งปัจจุบันดัชนี MACD กำลังปรับฐานขึ้น

ขณะที่นักวิเคราะห์ด้านเทคนิคที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กเข้าไปทำการสำรวจ กล่าวว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงราคาน้ำมันดิบจะพุ่งขึ้นอีก 12% ในปีนี้ โดยอ้างอิงว่าดัชนี Reuters/Jefferies CRB Index ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดสินค้าโภคภัณฑ์ 19 ประเภทรวมถึงน้ำมันดิบ พุ่งขึ้นเหนือเส้นเฉลี่ยรอบ 50 วันแล้วในวันนี้ และคาดว่าดัชนีจะทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะยิ่งทำให้สัญญาน้ำมันดิบน่าดึงดูดใจในสายตาของนักลงทุน และเป็นสัญญาบ่งชี้ว่าราคาน้ำมันดิบอยู่ใน "ภาวะกระทิง" อย่างแท้จริง

"ราคาน้ำมันดิบทะยานเข้าสู่ภาวะกระทิงเต็มรูปแบบ เราพบว่ามีเม็ดเงินทะลักเข้าสู่ตลาดสินค้าโภคภัณ์ฑ์จำนวนมากและต่อเนื่อง ตราบใดที่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจหลุดพ้นจากก้นเหวและพร้อมที่จะผงกหัวขึ้น ราคาน้ำมันก็จะยิ่งดีดตัวขึ้น เราจึงเชื่อว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นอย่างอย่างน้อย 10-12% ในปีนี้" วิลเลียม โอนีล นักวิเคราะห์จาก Logic Advisors ในรัฐนิวเจอร์ซี แสดงความเห็น

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX เดือนก.ย.ที่ตลาดสหรัฐ พุ่งขึ้น 89 เซนต์ ปิดที่ 68.05 ดอลลาร์/บาร์เรล และในช่วงเช้าวันนี้ สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX เดือนก.ย.ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกที่สิงคโปร์ พุ่งขึ้น 64 เซนต์ หรือ 0.9% แตะที่ 68.69 ดอลลาร์/บาร์เรล

... คอลัมน์ In Focus อาจไม่สามารถตอบคำถามในใจผู้อ่านได้ว่า ราคาน้ำมันที่สูงหรือต่ำ อย่างไหนจะดีกว่ากัน หากแต่ตอบได้เพียงว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเหรียญที่มีสองด้าน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะโดยทั่วไปแล้วการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบและราคาเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ มักเป็นผลดีต่อราคาหุ้นพลังงานและผลประกอบการของบริษัทพลังงาน แต่ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันกลั่นที่ลดลงกลับเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ใช้ยานยนต์ อย่างไรก็ดี การร่วงลงของราคาน้ำมันย่อมกระทบผลประกอบการของบริษัทพลังงานที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของอุตสาหกรรมหลักของโลก ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก และไม่ใช่ข่าวดีสำหรับผู้บริโภคแน่ !!



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ