สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเกือบ 4 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (30 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไรอย่างต่อเนื่องหลังจากภาคเอกชนของสหรัฐรายงานผลประกอบการที่ดีเกินคาด รวมถึงฮอนด้า, โมโตโรล่า และบีที กรุ๊ป โดยนักลงทุนเข้าซื้อสัญญาน้ำมันแม้กระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่าสต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่แล้วพุ่งขึ้นเหนือการคาดการณ์ก็ตาม
สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) พุ่งขึ้น 3.59 ดอลลาร์ หรือ 5.6% ปิดที่ 66.94 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินเดือนส.ค.พุ่งขึ้น 13.61 เซนต์ หรือ 7.3% แตะที่ 1.9911 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์เดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 9.72 เซนต์ ปิดที่ 1.7685 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.ย.พุ่งขึ้น 3.58 ดอลลาร์ ปิดที่ 70.11 ดอลลาร์/บาร์เรล
สตีเฟ่น ชอร์ค นักวิเคราะห์ชื่อดังในแวดวงพลังงานของสหรัฐกล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า "ตลาดน้ำมันดิบเคลื่อนไหวอย่างไม่สอดคล้องกับดีมานด์-ซัพพลาย แต่อ่อนไหวไปตามข้อมูลเศรษฐกิจและผลประกอบการภาคเอกชน ซึ่งความเคลื่อนไหวเช่นนี้เป็นผลมาจากการเก็งกำไรโดยอิงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นแรงจูงใจ"
นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบหลังจาก ฮอนด้า มอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น รายงานผลกำไรสุทธิ 7.56 พันล้านเยนในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.ปีนี้ ดิ่งลง 95.6% เนื่องจากความต้องการยานยนต์หดตัวลงทั่วโลก แต่กำไรไตรมาสแรกของฮอนด้ายังดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจขาดทุน
ขณะที่โมโตโรล่า อิงค์ ทำกำไรได้ 26 ล้านดอลลาร์ หรือ 1 เซนต์ต่อหุ้น ในช่วง 3 เดือนสิ้นสุดวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 4 ล้านดอลลาร์ในปีก่อน โดยผลกำไรล่าสุดของโมโตโรล่าดีกว่าที่บริษัทเองได้คาดการณ์เอาไว้ และเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าบริษัทจะขาดทุน 4 เซนต์ต่อหุ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อย่าง เอ็กซอน โมบิล มีกำไรไตรมาส 2 ดิ่งลง 66% ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ รอยัล ดัทช์ เชลล์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของยุโรป มีรายได้สุทธิไตรมาส 2 ร่วงลง 67% แตะระดับ 3.8 พันล้านดอลลาร์ และบีพีรายงานว่าผลกำไรไตรมาส 2 ดิ่งลง 53% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกถดถอยได้ฉุดดีมานด์เชื้อเพลิงหดตัวลงด้วย
สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 24 ก.ค.พุ่งขึ้น 5.1 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 347.8 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล แตะที่ 162.2 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 1.3 ล้านบาร์เรล