JSP อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเพิ่มทุน-ติดตามทวงหนี้ แก้ปัญหาสภาพคล่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 3, 2009 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชานนทน์ ภู่เจริญยศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอสพี ฟิวเจอร์ส จำกัด (JSP) กล่าวถึง ปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัทจนนำมาซึ่งการระงับการซื้อขายนี้ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ราคายางพาราที่ผันผวนอย่างรุนแรงในช่วงปลายปี 2551 ประกอบกับปริมาณซื้อขายที่เบาบางใน AFET ส่งผลให้ ลูกค้าบางส่วนของบริษัทประสบปัญหาพอร์ตการลงทุนติดลบในเวลาอันรวดเร็วและไม่สามารถปิดสถานะคงค้างได้ ทางบริษัทจึงจำต้องบังคับปิดสถานะ (Force selling) และดำเนินการตามเก็บหนี้สูญดังกล่าวตั้งแต่นั้นมา

อย่างไรก็ดี บริษัทยังไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระจากลูกค้าดังกล่าวได้ทั้งหมด อีกทั้งการเพิ่มทุนก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ เนื่องจากภาวะการณ์เติบโตของตลาดไม่เอื้ออำนวย จึงทำให้เงินสดของบริษัทฯ อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ส.ล. กำหนดไว้ จนเป็นผลให้ต้องถูกพักการใช้ใบอนุญาตดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ทางบริษัทขอยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อวงเงินในบัญชีซื้อขายของลูกค้า เนื่องจากทางบริษัทได้กันวงเงินทั้งสิ้น 45 ล้านบาท เพื่อรองรับการชำระเงินคืนให้กับลูกค้าทุกรายเอาไว้แล้ว

"ไม่อยากให้ลูกค้าหรือกลุ่มนักลงทุนในตลาดตื่นตระหนกไปกับข่าวนี้ เพราะในระหว่างที่บริษัทฯ พักประกอบกิจการชั่วคราว บริษัทจะช่วยให้ลูกค้าที่มีอยู่ประมาณ 20% ของตลาดสามารถไปใช้บริการโบรกเกอร์รายอื่นๆในตลาดแทนได้ และล่าสุดบริษัทได้เจรจากับ บริษัท หงต้า ฟิวเจอร์ส ซึ่งเป็นโบรกเกอร์พันธมิตร เพื่อให้มารับดูแลพอร์ตลูกค้าจากเจเอสพีชั่วคราว จนกว่าบริษัทจะกลับมาซื้อขายได้ตามปกติ ซึ่งขณะนี้บริษัทเตรียมทางเลือกสำหรับลูกค้าของบริษัทเอาไว้ 2 ทางเลือกด้วยกัน คือ 1. แจ้งความประสงค์ขอปิดสถานะและขอถอนเงิน หรือ 2. แจ้งความประสงค์ขอโอนบัญชีไปยังโบรกเกอร์พันธมิตร

ในส่วนของการดำเนินการเพิ่มทุนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ส.ล.นั้น นายชานนทน์กล่าวว่า ตนและกลุ่มผู้ถือหุ้นจากญี่ปุ่นกำลังเร่งดำเนินการอยู่ ควบคู่ไปกับการเร่งติดตามทวงหนี้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการปรับปรุงให้ฐานะทางการเงินของบริษัทกลับมาเป็นปกติ แต่ทั้งนี้ ความสำเร็จในการเพิ่มทุนก็ขึ้นอยู่กับการเติบโตของตลาด AFET เองด้วยเช่นกัน

สำหรับลูกค้าในส่วนของการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุน หรือ FTM นั้น ทางบริษัทขอแจ้งให้ทราบว่า บริษัทยังสามารถบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนได้ตามปกติ เนื่องจากใบอนุญาตในการให้บริการเป็นคนละส่วนกัน ซึ่งบริษัทจะเร่งสร้างรายได้ในส่วนนี้ เพื่อมาชดเชยรายได้จากการเป็นนายหน้าระหว่างรอการเพิ่มทุน


แท็ก ยางพารา   AFET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ