สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (10 ก.ย.) ซึ่งเป็นสถิติที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันวันที่ 3 หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่แล้วปรับตัวลดลงเกินคาด และหลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับเพิ่มคาดการณ์ดีมานด์น้ำมันทั่วโลกในปีนี้ นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันนิวยอร์กยังได้รับปัจจัยบวกจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ที่มีมติคงเพดานการผลิตน้ำมันในการประชุมครั้งล่าสุด
บลูมเบิร์กรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนต.ค.เพิ่มขึ้น 63 เซนต์ ปิดที่ 71.94 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 72.00-71.40 ดอลลาร์/ออนซ์
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนต.ค.ลดลง 2.45 เซนต์ ปิดที่ 1.8036 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนต.ค.ลดลง 0.55 เซนต์ ปิดที่ 1.7855 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนต.ค.เพิ่มขึ้น 42 เซนต์ ปิดที่ 70.25 ดอลลาร์/บาร์เรล
ฟิล ไฟน์ นักวิเคราะห์จากจาก PFGBest กล่าวว่า นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบอย่างคับคั่งต่อเนื่องจากเมื่อวันก่อน หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่แล้ว ร่วงลง 5.9 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 337.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลงเพียง 1.5 ล้านบาร์เรล
ขณะสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปี 2552 จะเพิ่มขึ้น 1.5% แตะที่ระดับ 84.4 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 490,000 บาร์เรลจากการคาดการณ์ในเดือนที่แล้ว พร้อมกันนี้ IEA ยังได้คาดการณ์ดีมานด์น้ำมันปี 2553 ว่าจะอยู่ที่ระดับ 85.7 ล้านบาร์เรล/วัน มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ราว 450,000 บาร์เรล/วัน
IEA กล่าวในรายงานว่า "มีหลักฐานบ่งชี้มากขึ้นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัวขึ้นและรัฐบาลทั่วโลกใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ดีมานด์น้ำมันในสหรัฐ จีน และประเทศอื่นๆในเอเชีย ปรับตัวขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้ดีมานด์น้ำมันทั่วโลกสูงขึ้นในปีนี้มาจากปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในจีน ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการที่จีนสำรองน้ำมันมากขึ้น"
ที่ประชุมโอเปคมีมติคงเป้าหมายการผลิตน้ำมันไว้เท่าเดิม 24.845 ล้านบาร์เรลต่อวัน พร้อมกับออกแถลงการณ์ว่า "จากการทบทวนภาวะตลาดน้ำมันในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต พบว่า แม้มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่หลายประเทศยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในกลุ่มโออีซีดี ขณะที่ปริมาณสต็อกน้ำมันดิบส่วนเกินได้ลดลงบางส่วน ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงในช่วงขาลงทางเศรษฐกิจแล้ว ที่ประชุมโอเปคจึงมีมติร่วมกันว่าจะคงระดับการผลิตในปัจจุบันไว้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง"