ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบปิดบวก 21 เซนต์ ขณะตลาดจับตาตัวเลขจ้างงานสหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Friday October 2, 2009 06:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (1 ต.ค.) เพราะได้รับแรงหนุนจากตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยรุนแรง นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงขานรับรายงานสต็อกน้ำมันเบนซินที่ร่วงลงเกินคาด อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบปิดบวกไม่มากนักเนื่องจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลภาคการผลิตที่อ่อนแอ และนักลงทุนส่วนใหญ่มีท่าทีระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานในวันศุกร์

บลูมเบิร์กรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้น 21 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 70.82 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในกรอบ 70.83-70.30 ดอลลาร์

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้น 12 เซนต์ ปิดที่ 69.19 ดอลลาร์/บาร์เรล

มิเชล ลินช์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Strategic Energy & Economic Research ในรัฐเมสซาชูเซทส์ กล่าวว่า นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบเพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยรุนแรง หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคเดือนก.ย.เพิ่มขึ้น 1.2% หลังจากขยับขึ้นเพียง 0.3% ในเดือนส.ค. ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.2%

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงขานรับรายงานที่ว่า สต็อกน้ำมันเบนซินในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 25 ก.ย.ร่วงลง 1.6 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 211.5 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะพุ่งขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบปิดบวกเพียงเล็กน้อยเนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มีท่าทีระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรในวันศุกร์ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าตัวเลขการจ้างงานเดือนก.ย.จะลดลง 180,000 ตำแหน่ง หลังจากดิ่งลง 216,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. และอัตราว่างงานจะอยู่ที่ 9.8% ในเดือนก.ย. เพิ่มขึ้นจาก 9.7% ในเดือนส.ค.

ส่วนอีกปัจจัยที่สกัดแรงบวกในตลาดน้ำมันนิวยอร์กคือรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ระบุว่าอัตราว่างงานที่พุ่งสูงและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 7.87 แสนล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีบารัค โอบามาที่เริ่มจะให้ผลลดลง จะฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปีหน้า โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียง 1.5% ในปีหน้า

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากรายงานของสถาบันจัดการอุปทาน (ISM) ของสหรัฐที่ระบุว่า ดัชนีกิจกรรมภาคโรงงานทั่วสหรัฐร่วงลงแตะระดับ 52.6 จุดในเดือนก.ย. จากเดือนส.ค.ที่ระดับ 52.9 จุด ซึ่งอยู่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์

ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ ผู้ผลิต และบริษัทน้ำมันที่จัดทำโดยบลูมเบิร์กระบุว่า ผลผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคในเดือนก.ย.โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 28.395 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลง 50,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนส.ค. โดยประเทศอิรัก ซาอุดิอาระเบีย และแองโกลา เป็นประเทศที่ลดกำลังการผลิตน้ำมันลงมากที่สุด

ผลสำรวจระบุว่า ผลผลิตน้ำมันในอิรักลดลง 40,000 บาร์เรลมาอยู่ที่ 2.35 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับที่ลดลงหนักสุดในกลุ่มประเทศโอเปค ส่วนซาอุดิอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโอเปคมีกำลังการผลิตน้ำมัน 8.015 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคูเวตมีกำลังการผลิตที่ 2.185 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนกาตาร์ผลิตน้ำมันได้ 720,000 บาร์เรลต่อวัน

ขณะเดียวกัน ไนจีเรีย เวเนซูเอล่า มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นสูงสุด 25,000 บาร์เรลในเดือนที่ผ่านมาแตะระดับ 1.805 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 2.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ตามด้วยอิหร่านที่มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 20,000 บาร์เรลต่อวันแตะที่ 3.78 ล้านบาร์เรล และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น 20,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 2.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ