ราคาทองคำพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ บ่งชี้นลท.วิตกภาวะเงินเฟ้อขณะศก.สหรัฐฟื้นตัว

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 7, 2009 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองคำที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้บ่งชี้ว่า นักลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ยังมีความกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐว่าอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แม้ว่าตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรรัฐบาลจะส่งสัญญาณถึงความมีเสถียรภาพแล้วก็ตาม

บลูมเบิร์กรายงานว่า ราคาทองคำแท่งถีบตัวขึ้น 18% ในปีนี้และทำสถิติไต่ระดับขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 หลังจากที่สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,045 ดอลลาร์/ออนซ์ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อวานนี้ เนื่องจากนักลงทุนเลี่ยงการลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าและหันมาซื้อขายในตลาดทองคำแทน

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า ราคาผู้บริโภคของสหรัฐจะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 0.5% ในปีนี้ ซึ่งนับเป็นการร่วงลงครั้งแรกในรอบ 50 ปี

อุปสงค์ทองคำปรับตัวสูงขึ้นในขณะที่ตราสารหนี้สหรัฐพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0-0.25% โดยอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับ 14.8% ต่อปีในเดือนมี.ค.2523 หลังจากที่ราคาทองคำเพิ่มขึ้น 4 ปีแตะที่ระดับ 873 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนม.ค.2523

แดน กรีนฮอส นักวิเคราะห์จากมิลเลอร์ ทาบัก แอนด์ โค ในนิวยอร์กกล่าวว่า "ราคาทองคำเป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงแนวโน้มเงินเฟ้อ เมื่ออ้างอิงจากราคาพื้นฐานที่พุ่งสูงขึ้นก่อนปี 2523 แม้ว่าขณะนี้ยังไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า เงินเฟ้อจะพุ่งทะลุระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่หากราคาทองคำสามารถเคลื่อนตัวได้สูงกว่านี้ เงินเฟ้อจะกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง"

ดอยช์แบงก์ เอจี คาดการณ์ว่าราคาทองคำอาจพุ่งขึ้นแตะระดับ 1,100 ดอลลาร์ในปี 2553 มาร์ก โอไบรน์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของบริษัทหลักทรัพย์โกลด์คอร์ จำกัดกล่าวว่า ความต้องการของนักลงทุนที่หวังเลี่ยงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงจะส่งผลให้ราคาโลหะมีค่าพุ่งแตะระดับ 2,000 ดอลลาร์ ทั้งนี้ ราคาสัญญาทองคำงวดส่งมอบเดือนธ.ค.ที่ตลาดสิงคโปร์ ณ เวลา 13:05 น.อยู่ที่ระดับ 1,040.80 จุด

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจในมุมมองของนักลงทุนในตลาดทองคำยังคงขัดแย้งกับรัฐบาลและนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่า สหรัฐจะหลุดพ้นจากภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ