จิม โรเจอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับแนวหน้าของโลกและเจ้าของบริษัท โรเจอร์ส โฮลดิ้งส์ คาดการณ์ว่า ราคาข้าวและฝ้ายจะพุ่งขึ้นในช่วง 10 ปีข้างหน้า ในขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆจะทะยานขึ้นด้วย เนื่องจากสต็อกสินค้าปรับตัวลดลงและเกิดปัญหาติดขัดด้านการผลิต
"ปัญหาคาดว่าจะเกิดขึ้นรวมถึงปัญหาเกี่ยวกับสภาพอากาศ และปัญหาด้านการผลิต ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ราคาข้าวและฝ้ายพุ่งขึ้นรุนแรงในช่วง 10 ปีข้างหน้า ภาคการเกษตรทั่วโลกจำเป็นต้องรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน ฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล และภัยธรรมชาติรุนแรงที่ตามมาได้แก่ น้ำท่วมและสภาพอากาศแห้งแล้ง" โรเจอร์สกล่าว
โรเจอร์สกล่าวว่า ราคาข้าวในตลาดโลกจะพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากสต็อกข้าวทั่วโลกปรับตัวลดลง และผลผลิตข้าวในอินเดียหดตัวลง ซึ่งปัญหาเรื่องการผลิตข้าวกำลังทำให้เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะที่เปราะบางมาก โดยเฉพาะปัญหาผลผลิตข้าวตกต่ำในอินเดีย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งขึ้น นอกจากนี้ สต็อกข้าวทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ดันราคาข้าวสูงขึ้นด้วย
"ผมคาดว่าซัพพลายข้าวทั่วโลกกำลังตึงตัว ในขณะที่ผลผลิตกำลังลดลงอันเนื่องมาจากหลากหลายเหตุผล รวมถึงการที่เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยาก จึงทำให้เกษตรกรไม่สามารถขยายผลผลิตและพื้นที่เพาะปลูก ผลพวงที่ตามมาคือผลผลิตตกต่ำ" โรเจอร์สซึ่งเคยคาดการณ์ไว้อย่างถูกต้องว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะเริ่มแพงขึ้นในปีพ.ศ.2542 กล่าว
นายคอนเซปเชียน คัลป์ นักเศรษฐศาสตร์ระดับสูงจากด้านองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยในการประชุมที่บาหลีว่า สต็อกข้าวของ 5 ประเทศยักษ์ใหญ่ด้านการส่งออกของโลกมีแนวโน้มทรุดตัวลง 1 ใน3 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งทำให้ราคาข้าวพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยระบุว่าสภาพอากาศที่แห้งแล้งในอินเดียอาจทำให้ผลผลิตข้าวลดลงราว 18% แตะ 81 ล้านตันในปีการตลาดซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ซัพพลายข้าวทั่วโลกลดลง
ด้านนายฌากส์ ดิยูฟ ผู้อำนวยการ FAO กล่าวว่า ราคาข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลือง พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในปีที่แล้ว เนื่องจากความกังวลที่ว่าปริมาณการผลิตจะไม่พอรองรับความต้องการที่พุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ ราคาธัญพืชที่แพงขึ้นยังทำให้เกิดการจลาจลเพื่อแย่งชิงอาหารทั้งในเฮติและไอวอรีโคสต์ โดยนายดิยูฟแนะนำว่าทั่วโลกจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการผลิตพืชผลทางการเกษตรอีก 70% ไปจนถึงปีพ.ศ.2593 เนื่องจากจำนวนประชากรทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.1 ล้านคน จากระดับ 6.7 ล้านคน
ผู้อำนวยการ FAO ยังกล่าวด้วยว่า อุตสาหกรรมการผลิตอาหารทั่วโลกจะเผชิญกับปัญหาการแข่งขันสูงจากตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งจะทำให้ปัจจัยพื้นฐานในตลาดการเกษตรเปลี่ยนแปลงไป บลูมเบิร์กรายงาน