สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (22 ต.ค.) หลังจากรัฐมนตรีกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ส่งสัญญาณว่าโอเปคอาจจะเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมเดือนธ.ค.นี้ นอกจากนี้ การที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มฟื้นตัวขึ้นยังส่งผลกดดันสัญญาน้ำมันดิบและสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆร่วงลงด้วย
บลูมเบิร์กรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.ลดลง 18 เซนต์ ปิดที่ 81.19 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 81.19-80.80 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 1.01 เซนต์ ปิดที่ 2.0442 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 1.07 เซนต์ ปิดที่ 2.0946 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนธ.ค.ลดลง 18 เซนต์ ปิดที่ 79.51 ดอลลาร์/บาร์เรล
ลอว์เรนซ์ อีเกิลส์ นักวิเคราะห์ด้านวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์จากเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ในนิวยอร์ก กล่าวว่า สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ร่วงลงทันทีหลังจากนายอับดุลเลาะห์ เอลบาดรี เลขาธิการโอเปคกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ลอนดอนว่า ในการประชุมเดือนธ.ค.นี้โอเปคอาจจะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรักษาน้ำมันให้เคลื่อนไหวในช่วง 75-80 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่การตัดสินใจดังกล่าวจะขึ้นอยู่ปริมาณน้ำมันเฉลี่ยในสต็อกของโอเปค
ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ ผู้ผลิต และบริษัทน้ำมันที่จัดทำโดยบลูมเบิร์กระบุว่า ผลผลิตน้ำมันในเดือนก.ย.โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 28.395 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลง 50,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนส.ค. โดยปัจจุบันโอเปคมีปริมาณน้ำมันสำรองต่อวันที่ระดับ 6.105 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ผลสำรวจระบุว่า ผลผลิตน้ำมันในอิรักลดลง 40,000 บาร์เรลมาอยู่ที่ 2.35 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับที่ลดลงหนักสุดในกลุ่มประเทศโอเปค ส่วนซาอุดิอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโอเปคมีกำลังการผลิตน้ำมัน 8.015 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคูเวตมีกำลังการผลิตที่ 2.185 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนกาตาร์ผลิตน้ำมันได้ 720,000 บาร์เรลต่อวัน
ด้านไนจีเรีย เวเนซูเอล่า มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นสูงสุด 25,000 บาร์เรลในเดือนที่ผ่านมาแตะระดับ 1.805 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 2.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ตามด้วยอิหร่านที่มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 20,000 บาร์เรลต่อวันแตะที่ 3.78 ล้านบาร์เรล และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น 20,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 2.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน
โอเปคได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ดีมานด์พลังงานทั่วโลก โดยคาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันทั่วโลกในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นอีก 700,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 84.93 ดอลลาร์ต่อวัน เนื่องจากความต้องการน้ำมันในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงจีนและอินเดีย พุ่งสูงขึ้น ส่วนในปีนี้นั้น โอเปคคาดว่าดีมานด์น้ำมันทั่วโลกจะลดตัวลง 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 84.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน