ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: น้ำมันดิบปิดลบ 38 เซนต์ หลังดอลล์แข็ง-กระแสคาดสต็อกน้ำมันดิบพุ่ง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 10, 2010 07:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (9 มี.ค.) เพราะได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่าสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐจะพุ่งขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าดีมานด์พลังงานหดตัวลงด้วย นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบอ่อนตัวลงหลังจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนเม.ย.ลดลง 38 เซนต์ หรือ 0.46% ปิดที่ 81.49 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 80.16- 81.91 ดอลลาร์

ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนเม.ย.ลดลง 1.57 เซนต์ ปิดที่ 2.0898 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนเม.ย.ลดลง 2.89 เซนต์ ปิดที่ 2.2603 ดอลลาร์/แกลลอน

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนเม.ย.ร่วงลง 56 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 79.91 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวใน ช่วง 78.70-80.40 ดอลลาร์

นักวิเคราะห์จากเทรดดิชัน เอนเนอร์จี กล่าวว่า สัญญาน้ำมันดิบถูกกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร ก่อนที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ จะหารือร่วมกับนายจอร์จ ปาปันเดรอู นายกรัฐมนตรีของกรีซ เมื่อหาทางคลี่คลายปัญหาหนี้สินของกรีซและวิกฤตการณ์การเงินในยุโรป

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (อีไอเอ) คาดว่าดีมานด์น้ำมันในตลาดโลกอาจเพิ่มขึ้นราว 1.47 ล้านบาร์เรล/วันในปีพ.ศ.2553 และคาดว่าดีมานด์น้ำมันในสหรัฐอาจเพิ่มขึ้น 200,000 บาร์เรล/วัน แตะที่ 18.89 ล้านบาร์เรล/วันในปีพ.ศ.2553 2010 โดยตัวเลขคาดการณ์ในครั้งล่าสุดอยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ครั้งก่อนประมาณ 30,000 บาร์เรลวัน

กระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยรายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ในคืนวันพุธตามเวลาประเทศไทย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะลดลง 0.9 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้น 150,000 บาร์เรล ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันอาจทรงตัวที่ 81.9%

นายมูฮัมหมัด อาลี กาติบี รัฐมนตรีพลังงานอิหร่านซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มโอเปค กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ถือเป็นระดับที่เหมาะสม แต่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกทุกวันนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกและความผันผวนของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ 12 ชาติสมาชิกกลุ่มโอเปคจะประชุมร่วมกันในวันที่ 17 มี.ค.ที่กรุงเวียนนา เพื่อตัดสินใจว่าควรปรับเพดานการผลิตน้ำมันหรือไม่ หลังจากที่โอเปคตกลงกันในที่ประชุมปี 2552 ว่าควรคงเพดานการผลิตรายวันไว้ที่ 4.2 ล้านบาร์เรล เนื่องจากดีมานด์ในตลาดโลกถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ